นายกันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้ดำเนินงานร้าน MONO SHOP ในประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่หอการค้าญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าคนไทยสนใจสินค้าญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
นายกันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้ดำเนินงานร้าน MONO SHOP ในประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่หอการค้าญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าคนไทยสนใจสินค้าญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทดลองตั้ง Antenna Shop ขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยรวบรวมเอาของดีจาก 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น และถูกรู้จักภายใต้ชื่อ MONO SHOP ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ได้ดำเนินการมาใกล้จะครบ 1 ปีแล้ว นับว่ามีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจจากการประเมินของหอการค้าญี่ปุ่น โดยการประเมินนั้น จะไม่ได้ประเมินจากตัวเลขการซื้อ-ขายจริง แต่จะคำนวณจากการพบเจอผู้ซื้อกี่ราย และคาดการณ์ว่าแต่ละรายมีโอกาสซื้อเท่าไหร่ ซึ่งโปรเจ็กต์ MONO SHOP นี้ มีตัวเลขประมาณการซื้อ-ขายอยู่ที่ 169 ล้านเยน และมีมูลค่าที่ซื้อ-ขายจริงเกิดขึ้นแล้ว 44 ล้านเยน
อย่างไรก็ดี ความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้ คือการกล้าทุ่มทุนสร้าง Antenna Shop และจ้างบริษัทคนไทยดำเนินการทั้งทำการตลาดและติดต่อเสนอขายสินค้าให้กลุ่ม B2B โดยในส่วน Antenna Shop นั้นอาจไม่ได้สร้างกำไร แต่ทำหน้าที่เสมือน Show Room สินค้าเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการเสนอขายแบบ B2B มากกว่า นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการและต้อนรับผู้เยี่ยมชมทั้งคณะดูงานจากไทยและญี่ปุ่น
“กลยุทธ์ของเราไม่ได้เน้นการขายปลีกตั้งแต่แรก เพราะเราเชื่อว่าผู้ผลิตไม่ได้ต้องการขายของเพียง 5 ชิ้น 10 ชิ้น เขาต้องการจะขายได้มากกว่านั้น เราจึงต้องหาช่องทางจำหน่ายแบบค้าส่ง บริษัทเราจึงเสมือนบริษัทนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น โดยเราจะจัดทำข้อมูลสินค้า ทำแค็ตตาล็อก และทำตารางราคา และก็ทำหนังสือเพื่อเสนอสินค้าที่ผลิตจาก SME ญี่ปุ่น หน้าที่เราก็คือเข้าไปลุยในทุกโมเดิร์นเทรด”
สำหรับสินค้าในร้าน MONO SHOP ทั้งหมดอยู่ในโหมดไลฟ์สไตล์ สามารถแบ่งกลุ่มแบบคร่าวๆ เป็นกลุ่มที่ซื้อง่ายขายคล่อง กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มกึ่งอุตสาหกรรม เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ เช่น แปรงแต่งหน้า ผ้าพันคอ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะขายยาก เป็นกลุ่มหัตถกรรมโบราณซึ่งมีราคาสูง
“ในแต่ละปีจะมีการหมุนเวียนสินค้า 2-3 ครั้ง ทางญี่ปุ่นจะรับสมัครหาสินค้าใหม่ๆ จากผู้ประกอบการ SME โดยผู้ประกอบการญี่ปุ่นคนไหนสนใจก็ส่งสินค้ามาที่บริษัทบริหารจัดการในประเทศญี่ปุ่น ผู้ประกอบการรายย่อยจะเสียแค่ค่าขนส่งในประเทศ โดยลักษณะการตกลงเป็นรูปแบบฝากขาย เพราะฉะนั้นตัวผู้ประกอบการจะยังไม่ได้เงินค่าสินค้า ขั้นตอนหลังจากนั้นเริ่มตั้งแต่ แพ็กสินค้าลงกล่องใหญ่ใส่คอนเทนเนอร์ส่งมาเมืองไทย ถูกเก็บภาษีนำเข้าใช้งบประมาณภาครัฐทั้งหมด โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ให้ผลดีต่อผู้ประกอบการญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะตัวเขาจะเสียเงินน้อยมาก แต่มีโอกาสนำสินค้าวางขายในต่างประเทศ”
ที่มา : SME Thailand Magazine