หอการค้าเชียงใหม่รุกเจาะกลุ่มมุสลิมจีน เปิดตลาดสินค้าฮาลาลเต็มสูบ ลงนามเชื่อมการค้าการลงทุนกับมณฑลยูนนาน -หนิงเซี่ย เมืองที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดของแดนมังกร
หอการค้าเชียงใหม่รุกเจาะกลุ่มมุสลิมจีน เปิดตลาดสินค้าฮาลาลเต็มสูบ ลงนามเชื่อมการค้าการลงทุนกับมณฑลยูนนาน -หนิงเซี่ย เมืองที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดของแดนมังกร
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้า และบริการที่สามารถยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านการผลิตสินค้าและบริการที่ถูกต้องตามหลักฮาลาลได้ และมีภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ GMS ทั้งนี้หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามความร่วมมือกับสมาคมฮาลาลยูนนาน และเขตปกครองพิเศษหนิงเซีย เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความรู้ การรับรองมาตรฐานฮาลาล และการแสดงสินค้าระหว่างกัน
ทั้งนี้ มณฑลยูนาน มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่ราว 10 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 80 ล้านคน สำหรับเขตปกครองพิเศษหนิงเซีย มีประชากร 6.3 ล้านคน โดยมีสัดส่วนประชากรที่เป็นมุสลิมชนชาติหุยที่อาศัยรวมกันมากที่สุดในประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนราว 36% หรือประมาณ 2.5 ล้านคนของพื้นที่ทั้งหมดของมณฑล ซึ่งนโยบายการพัฒนาและนำความเจริญมายังพื้นที่จีนตะวันตกของรัฐบาลกลาง ส่งผลให้เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยมีทิศทางการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลหนิงเซี่ย มีอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปอาหารฮาลาลในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย มีทั้งสิ้น 7,048 แห่ง แบ่งเป็นวิสาหกิจประเภทแปรรูปอาหาร 1,116 แห่ง มีมูลค่าการผลิตโดยรวมอยู่ที่ 20,000 ล้านหยวน โดยมีการผลิตและแปรรูปอาหารฮาลาล คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมทุกประเภทของหนิงเซี่ย
นางวิภาวัลย์ กล่าวต่อว่า มณฑลยูนนานและมณฑลหนิงเซี่ย มีความต้องการสินค้าจากทางภาคเหนือของไทยในหลายกลุ่มสินค้า อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้ากลุ่มสมุนไพร-สุขภาพ และสินค้ากลุ่มแปรรูปอาหาร เป็นต้น และยังมีสินค้าและบริการที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ เช่น การบริการอาหารฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ตรวจสอบและอนุมัติการให้ตราฮาลาลกับสินค้าซึ่งมีภาคเอกชนมาใช้บริการจำนวนมาก และยังมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและอาหารฮาลาลในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ