ปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังร่อแร่

ปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังล่อแล่

       นายเจอราร์ด ลีออง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าสำนักวิจัยของกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งติดอันดับสถาบันที่มีความแม่นยำในการพยากรณ์เศรษฐกิจเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน กล่าวว่า อัตราการขยายตัวที่แตกต่างกันของสองซีกโลกไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจสองขั้วนี้จะเป็นอิสระจากกันอย่างสิ้นเชิง “ในช่วงครึ่งแรกของปี 2012 ปัญหาในยุโรปและโลกตะวันตกจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อเข้าช่วงครึ่งหลังของปี การเติบโตที่แข็งแกร่งในจีนและประเทศในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ น่าจะช่วยดึงให้เศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้นมาได้ จะเป็นการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันออกที่ส่งผลไปถึงโลกตะวันตก และนี่เป็นบทพิสูจน์ว่าขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปแล้ว

       ปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในประเทศตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลาง และการเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศโลกตะวันออก อีกทั้งเครือข่ายธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งขึ้นในแถบแนวพื้นที่การค้าใหม่ (New Trade Corridor) ที่ช่วยเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเข้าด้วยกัน

       สำหรับประเทศไทยนั้น อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปีหน้า เนื่องด้วยนโยบายในการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งภาคเอกชนจะมีการใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้าง และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นลักษณะรูปตัว “V” กล่าวคือ เป็นภาวะถดถอยระยะสั้น ที่มีการปรับตัวกระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับปัจจัยจากภายนอก ได้แก่ การหดตัวทางเศรษฐกิจในยุโรป และการขยายตัวอย่างอ่อนแรงของสหรัฐ จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย จึงคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2012 จะอยู่ที่ 3.5%

       สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคซึ่งตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น อุสรา คาดว่าจะฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2012 เมื่อการจ้างงานกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนหนึ่งการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมาจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ได้แก่ การชดเชยความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และการปรับเงินเดือนข้าราชการ ส่วนบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม ต่างก็มีแผนจะจ้างพนักงานกลับทำงานตามเดิม สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยคาดว่าจะมีการใช้จ่ายเป็นเงินถึง 1 แสนล้านบาท (ราว 1% ของจีดีพี) เพื่อในการปรับปรุงบ้านที่เสียหายจากน้ำท่วม

       อุสรา กล่าวเสริมว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ต้องมีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในปีหน้า การให้สินเชื่อพิเศษสำหรับบริษัทในนิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วม และเอสเอ็มอี เพื่อใช้ในการเปลี่ยนเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่เสียหาย อีกทั้งการลดหย่อนภาษี จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้มีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในภาคเอกชน ส่วนภาครัฐก็ต้องเร่งปรับปรุงระบบขนส่งที่เสียหาย และเร่งสร้างระบบการจัดการและระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมอีกในอนาคต ในส่วนของผู้ผลิต คาดว่าธุรกิจผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะปรับตัวอย่างรวดเร็วในครึ่งแรกของปี 2012 เนื่องจากต้องผลิตเพื่อส่งสินค้าตามออร์เดอร์ที่ยังค้างส่ง และเพื่อทดแทนสินค้าคงคลังที่เสียหายจากน้ำท่วม

ที่มา : บ้านเมือง

NEWS & TRENDS