"โฆสิต"เตือนเศรษฐกิจไทยแปรปรวนสูง ปี55อย่าลงทุนมากเอาแค่รอด

"โฆษิต"เตือนปี 2555 ปัจจัยเสี่ยงสูงทั้งเศรษฐกิจโลกถดถอย ค่าเงินผันผวน บาทแข็ง น้ำท่วม เอกชนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน อย่าทุ่มหมดตัว พยายามประคองตัวในรอดในช่วง 6-9 เดือนแรก ไตรมาสแรกมีสิทธิติดลบ อุตฯภาคการผลิตกว่า 80% ยังไม่ฟื้น ขณะที่การขับเคลื่อนของเอกชนติดขัด รัฐบาลต้องเข้ามาทำหน้าที่ลงทุนแทนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว

       "โฆสิต"เตือนปี 2555 ปัจจัยเสี่ยงสูงทั้งเศรษฐกิจโลกถดถอย ค่าเงินผันผวน บาทแข็ง น้ำท่วม เอกชนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน อย่าทุ่มหมดตัว พยายามประคองตัวในรอดในช่วง 6-9 เดือนแรก ไตรมาสแรกมีสิทธิติดลบ อุตฯภาคการผลิตกว่า 80% ยังไม่ฟื้น ขณะที่การขับเคลื่อนของเอกชนติดขัด รัฐบาลต้องเข้ามาทำหน้าที่ลงทุนแทนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว

       นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการเสวนา "การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติอุทกภัย" ว่า แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไทยในปี 2555 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวโดยไตรมาส 1 คาดว่าจะเติบโต 0% หรืออาจติดลบเล็กน้อย และไตรมาส 2 เริ่มอยู่ในภาวะขาขึ้นและอาจเติบโตในระดับปกติหรือทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกจีดีพีจะขยายตัวต่ำกว่า 4-5% ซึ่งเป็นผลจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ 80% ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่

       ส่วนแนวโน้มจีดีพีครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้มากกว่า 4-5% ภายใต้ปัจจัยการลงทุนของภาครัฐบาลผ่านนโยบายการเงินการคลังที่จะต้องลงมือปฏิบัติให้เห็นผล เพราะที่ผ่านมาต่างประเทศก็มีการดำเนินนโยบายเหล่านี้เช่นยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ปรับดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำถึงปี 2556 แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2555 ก็อยู่ในภาวะที่ถดถอยต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก

       ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวภาคเอกชนไม่ควรตัดสินใจลงทุนอย่างรวดเร็ว และควรวางแผนธุรกิจให้ดีเพื่อป้องกันตัวเองรวมทั้งไม่ควรทุ่มการลงทุนสุดตัวจนไม่เหลืออะไรเลย เพื่อรอให้การฟื้นตัวผ่านไปได้ในช่วง 6-9 เดือนก่อน

       "ปีหน้าไทยกำลังฝ่าสภาพอากาศที่แปรปรวนดังนั้นการลงทุนต้องรัดเข็มขัด และแรงต้านเศรษฐกิจที่มีอยู่สูงก็ไม่ควรใช้ความเร็วในการลงทุน ขณะเดียวกันภาคธุรกิจจะต้องมีภูมิต้านทานให้ดีสิ่งสำคัญคือการวางแผนธุรกิจโดยไม่ทุ่มจนสุดตัวแล้วไม่เหลืออะไรเลย ต้องโพรเทคส์(ปกป้อง)ตัวเองให้ผ่าน 6-9 เดือนก่อน เพราะปัจจัยลบปีหน้าทั้งวิกฤติน้ำท่วมและเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยกระส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง ลึกและยาว จึงต้องวางแผนและระวังให้มาก" นายโฆสิต กล่าว

       นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคเอกชนติดขัด รัฐบาลจึงต้องเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนแทน แต่ยอมรับว่าขณะนี้รัฐบาลมีภาระมากทั้งการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนหลังถูกน้ำท่วมเสียหายจำนวนมาก อีกทั้งมีนโยบายที่จะดำเนินการอีกมาก ดังนั้นกรอบการใช้งบประมาณคงจะใหญ่ขึ้น จากเดิมที่จะใช้งบประมาณก้อนโตอยู่แล้ว แต่หากรัฐสามารถลงทุนได้ผลก็จะกระตุ้นจีดีพีให้ขยายตัวได้ 4-5%

       นายโฆสิต กล่าวอีกว่า ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนปี 2555 คาดการณ์ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น เพราะจะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมาก ผ่านบริษัทประกันข้ามชาติมูลค่านับแสนล้านบาทเพื่อใช้ในการฟื้นฟูกิจการ จากปัจจุบันโรงงานที่ถูกน้ำท่วมสามารถเรียกค่าเสียหายได้เพียงหลักสิบบริษัทเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าเงินเหล่านี้จะเข้ามามากน้อยแค่ไหนและเมื่อไหร่ แต่หากค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นได้อาจจะช่วยทำให้เงินบาทอ่อนตัวได้ช่วยคลี่คลายภาวะเงินทุนไหลเข้าได้ แต่ภาพรวมค่าเงินบาทยังตกอยู่ในภาวะที่ผันผวน

       ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยถือว่าเป็นทิศทางขาลง แต่อาจยากลำบากกว่าที่คาดการณ์ เพราะภาวะเงินเฟ้อยังคงน่าเป็นห่วงแม้ตอนนี้จะอยู่ในระดับสูงกว่า 4% รวมทั้งยังมีแรงกดดันหลายด้านทั้งธนาคารพาณิชย์มีความต้องการเงินฝากเพื่อระดมไปปล่อยกู้ให้รัฐบาล ก็จะเป็นปัจจัยกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้

       นอกจากนี้ แนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภคในปีหน้าก็จะชะลอตัวลง โดยครึ่งปีแรกการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม ทำให้ต้องลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยไม่เกี่ยวกับน้ำท่วมออกไป เพราะมหาอุทกภัยครั้งนี้กระทบรายจ่ายให้หายไปหลายเดือน สวนทางกับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นในการซ่อมแซมบ้านเรือน

       นายโฆสิต กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนยังต้องเร่งปรับตัวนำเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาภาคการผลิตเข้ามาใช้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดภายใต้ปัจจัยลบเดิมๆทั้งการขาดแคลนแรงงาน ค่าจ้างขั้นต่ำที่พุ่งสูงขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนที่ขณะนี้ยังไม่มีการย้ายไปยังประเทศอื่น แต่ในการพิจารณาการลงทุนใหม่ๆของต่างชาติก็จะไม่เข้ามาไทย รวมทั้งการหาพื้นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไปยังภาคอีสานอย่างจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ที่มีการศึกษาพื้นที่ไว้แล้วและไม่เสี่ยงน้ำท่วม ไม่ขาดแคลนน้ำในภาคอุตสหากรรม รวมทั้งบางแห่งอยู่ใกล้ท่าเรือด้วย โดยไม่ยึดติดอยู่เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมหนักไม่สามารถลงทุนได้แล้ว นอกจากนี้ไทยควรเร่งพัฒนาตัวเองให้เป็นศูนย์รวมของการผลิตในภูมิภาคอาเซียนรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ด้วย

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS