ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะนำร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล .และร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อเปลี่ยนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ..
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะนำร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล .และร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อเปลี่ยนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในทันที
"ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะดำเนินการแบบรัดคิว แต่กฎหมายจะประกาศใช้ได้เมื่อใด ขึ้นกับ สนช."
แล้วอีก 3 สัปดาห์จะเสนอกฎหมายอีก 6 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมและกิจการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
"เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นการลงทุนในระยะยาว ทำให้คนมีโอกาสทำมาหากินมากขึ้น เอกชนอยู่ในโลกของเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่แล้ว แต่ต้องการให้รัฐช่วยสร้างโครงสร้างต่าง ๆ มารองรับ ทั้งบรอดแบนด์ เกตเวย์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่พวกซอฟต์อินฟราสตรักเจอร์ อย่างพวกกฎหมายที่จะอำนวยความสะดวก จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกิจผ่านดิจิทัล ผ่านอินเทอร์เน็ต กฎหมายยังไม่เข้มแข็งพอ"
อนาคตของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ภายใต้ดิจิทัลอีโคโนมี เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะในส่วนของโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง โครงข่ายโทรคมนาคมต่าง ๆ ที่ทั้ง 2 บริษัทมีอยู่ ไม่จำเป็นที่จะต้องยุบหรือยุบรวมกัน แค่เพียงนำทรัพย์สิน โครงข่ายที่มีอยู่มาใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการบูรณาการอินฟราสตรักเจอร์กับทุกหน่วยงานที่มีอยู่ เพื่อลดการซ้ำซ้อน
ขณะที่สถานะของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะยังเป็นองค์กรอิสระเหมือนเดิม
"เพียงแต่จะมีการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดขึ้น ไม่ได้มีคำว่าต้องมาเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงใหม่"
ที่มา ประชาชาติ (www.prachachat.net)