น่าเศร้า! ยูเอ็นสำรวจ "นักศึกษา" มองจ่ายสินบนเป็นเรื่องปกติ

ยูเอ็นจับมือสถาบันการศึกษาสำรวจ "ความซื่อตรง" นักศึกษา เผยส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของความซื่อตรง แต่มากกว่าร้อยละ 60 กลับเห็นว่าการใช้เส้นสาย จ่ายสินบนเป็นเรื่องปกติ


  
    ยูเอ็นจับมือสถาบันการศึกษาสำรวจ "ความซื่อตรง" นักศึกษา เผยส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของความซื่อตรง แต่มากกว่าร้อยละ 60 กลับเห็นว่าการใช้เส้นสาย จ่ายสินบนเป็นเรื่องปกติ สวนทางความเชื่อของตัวเอง เชื่ออิทธิพลวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ไม่ปฏิบัติตามหลักการ เร่งเดินหน้าทำกิจกรรม "คอร์รัปชัน ฉันไม่ขอรับ" สร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจาก 90 สถาบันทั่วประเทศ

    โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ร่วมกับวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเครือข่ายเยาวชน "คอร์รัปชัน ฉันไม่ขอรับ" ได้แถลงข่าวผลสำรวจความซื่อตรงของนักศึกษามหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้

    สำหรับโครงการสำรวจความซื่อตรงของนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยใช้กลุ่มตัวอย่างนักศึกษา 1,255 คนมาร่วมตอบแบบสอบถาม ซึ่งผลการสำรวจพบว่า เยาวชนไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความซื่อตรง (Integrity) เป็นอย่างดี และเชื่อว่าความซื่อตรงเป็นสิ่งสำคัญ

    อย่างไรก็ตาม เยาวชนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสำรวจ ยอมรับว่า การจ่ายและใช้เส้นเป็นเรื่องปกติ ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันของความเชื่อกับพฤติกรรม หรือเรียกว่า "ช่องว่างความซื่อตรง" (Integrity Gap) นั่นเอง

    รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้การศึกษาและผู้จัดการศึกษามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างความซื่อตรงในกลุ่มนักศึกษา ข้อมูลและผลสำรวจนี้ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้นและเป็นกรอบแนวทางที่ดีที่จะช่วยให้เราจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองสถานการณ์ได้ดีขึ้น

    ทั้งนี้ จากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษา 1,255 คน นักศึกษาส่วนใหญ่เข้าใจแนวคิดเรื่องความซื่อตรง (Integrity) และเห็นด้วย ว่า คนที่มีความซื่อตรงจะปฏิเสธการทุจริตถึงแม้จะทำให้สถานการณ์ของตนยากลำบากมากขึ้น

    แต่นักศึกษามากกว่าร้อยละ 60 กลับเห็นว่า การใช้เส้นสายในการหาผลประโยชน์ หรือเสนอที่จะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อที่จะบรรลุ วัตถุประสงค์บางอย่างเป็นเรื่องปกติ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักศึกษาที่ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของตนส่งงานที่เพื่อนทำให้

    นอกจากนี้ นักศึกษามากกว่าร้อยละ 80 เห็นว่า คนที่มีความซื่อตรงจะตั้งคำถามหรือไม่เชื่อฟัง เมื่อผู้มีอำนาจกระทำการที่ผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรม แต่นักศึกษาเพียงร้อยละ 3.2 ระบุว่า เคยรายงานผู้เกี่ยวข้องเมื่อได้รับการเสนอให้จ่ายสินบน ขณะที่นักศึกษาร้อยละ 26.5 ตอบว่า ไม่ใช่เรื่องของตน และ ร้อยละ 26.8 ตอบว่า ถึงรายงานไปก็ไม่เชื่อว่าจะมีการทำอะไร

    นางมารีนา วอลเตอร์ รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่านักศึกษารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่อิทธิพลของระบบวัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เยาวชนไม่ประพฤติตนโดยยึดมั่นในหลักความซื่อตรงได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ทางยูเอ็นดีพีได้มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมกับเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเรื่องนี้

    นางมารีนา วอลเตอร์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าเยาวชนต้องเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะพวกเขาเข้าใจในประเด็นปัญหา สำหรับยูเอ็นดีพี จะเป็นฝ่ายสนับสนุนและให้คำแนะนำกับเยาวชนในการร่วมกันจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และช่วยให้ช่องว่างความซื่อตรงลดลงและให้สิ่งที่เยาวชนพูดและเชื่อนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ทำ

    สำหรับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนไทย "คอร์รัปชัน ฉันไม่ขอรับ" ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษาที่เป็นสมาชิกมากกว่า 6,000 คนจาก 90 กว่ามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมา เครือข่าย "คอร์รัปชัน ฉันไม่ขอรับ" ได้เปิดตัวโครงการธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบร้านกาแฟชื่อ "คอร์รัปชัน ฉันไม่ขอรับ" ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ในการพูดคุยสนทนาเกี่ยวกับประเด็นการทุจริต แลกเปลี่ยนความคิด สร้างสรรค์กิจกรรม และวางแผนรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับมหาวิทยาลัย ระดับชุมชน และระดับประเทศต่อไป

    ส่วนผลกำไรที่ได้รับจากร้านกาแฟจะนำไปดำเนินกิจกรรมการต้านทุจริตของนักศึกษาเพื่อเกิดความยั่งยืนและต่อเนื่อง โดยสองร้านแรกที่จะเปิดต้นปี 2558 จะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS