ธปท.วาง9ยุทธศาสตร์รับมือศก.โลกป่วน

ธปท.วาง9ยุทธศาสตร์รับมือศก.โลกป่วน

       นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ของธปท.ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2555-2559) มีแนวทางหลัก 9 ข้อ เพี่อนำไปสู่เป้าหมาย "ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย" ซึ่งการทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นการเตรียมรับมือความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า และจะช่วยบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งสร้างเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งของเศรษฐกิจและประชาชน

       "ในขณะนี้ไทยกำลังอยู่ใน กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจะถูกบีบคั้นจากทั้ง 2 ด้าน คือ จากประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งมีแรงงานราคาถูกกว่า มีทรัพยากรให้ใช้มากกว่า ที่ขณะนี้กำลังจะยกระดับขึ้นมาเท่าเทียมในด้านการแข่งขันทางการค้ากับเรา และอีกด้านถูกบีบจากประเทศที่รวยกว่า มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าในการผลิตสินค้า ซึ่งไทยจำเป็นต้องหนีจากกับดักนี้ "

       สำหรับยุทธศาสตร์ด้านที่ 1 คือ การประสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค 2.การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ให้ปรับตัวตามกลไกตลาด และเอกชนสามารถรองรับผลกระทบจากค่าเงินบาท 3 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นรุนแรงทั้งในสหรัฐ ยุโรป และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงในการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยธปท.พยายามที่จะนำทุนสำรองไปลงทุนในประเภทสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่จะรักษาความเสี่ยงให้คงไว้ที่เดิมหรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด

       ยุทธศาสตร์ในด้านที่ 4 คือ ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน เป็นด้านหนึ่งที่มีความเป็นห่วงมาก เนื่องจากระบบสถาบันการเงินในขณะนี้ มีลักษณะที่เกี่ยวโยงกันไปหมด ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จะต้องมีการกำกับดูแลและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีเพิ่มขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยเน้นเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงินของรากหญ้า และผู้ด้อยโอกาสทางการเงิน รวมทั้งพร้อมรับการแข่งขันภายใต้กรอบ ประชาคมอาเซียน (AEC) ที่จะต้องมีการเปิดเสรีภาคการเงิน

       ยุทธศาสตร์ด้านที่ 6 เป็นด้านระบบการชำระเงิน ส่งเสริมให้คนไทยใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการพิมพ์ธนบัตร และการบริหารจัดการเงินสด ซึ่งมีรายจ่ายสูง ขณะเดียวกัน ก็เตรียมพร้อมที่จะเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ยุทธศาตร์ด้านที่ 7 เป็นด้านใหม่ที่ ธปท.ให้ความสำคัญมากขึ้น คือ การคุ้มครองผู้บริโภค โดยในเดือน มกราคม ที่จะถึงนี้ จะจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน สำหรับยุทธศาสตร์ด้านที่ 8 การสร้างแบรนด์ของธปท.ให้คนทุกระดับ เข้าถึงเข้าใจในการทำงาน และแนวคิดของธปท. และยุทธศาสตร์ที่ 9 คือ ด้านทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาองค์กร เพื่อสร้างคนธปท.ให้มีเป็นมืออาชีพที่มีความรอบรู้


ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS