การจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs ในเดือน ต.ค. นั้น มีกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีจำนวน 5,384 ราย ยกเลิกกิจการในเดือน ต.ค. มีจำนวน 1,641 ราย
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs ในเดือน ต.ค. นั้น มีกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีจำนวน 5,384 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 2.31 แต่หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 11.43 ขณะที่ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มีกิจการจัดตั้งใหม่จำนวน 51,725 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.79
ประเภทกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุดในเดือน ต.ค.ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ตามลำดับ
ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการในเดือน ต.ค. มีจำนวน 1,641 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.79 บาท แต่หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ0.12 ส่วนในช่วง 10 เดือนแรก มีการยกเลิกกิจการรวม 11,847 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 7.02
ประเภทกิจการที่ยกเลิกมากที่สุดในเดือน ต.ค. ได้แก่ ขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย การให้คำปรึกษาด้านการจัดการ อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าสุด ซึ่งกระทรวงการคลังเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้แก่ 1.ลดภาษีสำหรับ SMEs โดยผู้มีมีรายได้สุทธิไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 15 2.จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับ SMEs 3.นาโนไฟแนนซ์ โดยเปิดโอกาสให้เอกชนจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อปล่อยกู้ให้ประชาชน วงเงิน100,000-120,000 บาท ดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 36 4.จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ5.ออกพันธบัตรออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง และ 6. มาตรการของแบงก์รัฐ ในการช่วยเหลือเกษตรกรและรายย่อย ฯลฯ
โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 นั้น จะเป็นส่วนช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในด้านการลดต้นทุน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป