"กรมโรงงาน" แนะเอกชนเร่งจดทะเบียนเครื่องจักร เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน หลังพบมียอดผู้เข้าร่วมยังไม่ถึง10%
"กรมโรงงาน" แนะเอกชนเร่งจดทะเบียนเครื่องจักร เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน หลังพบมียอดผู้เข้าร่วมยังไม่ถึง10%
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าขณะนี้กรมได้เร่งดำเนินการให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นำเครื่องจักรภายในโรงงาน เข้ามาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์กับกรมฯ เพื่อนำใบจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่างๆ มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน หรือสมุดจดทะเบียนรถยนต์ เนื่องจากปัจุบันยังมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ยังไม่ทราบข้อมูลว่า สามารถนำเครื่องจักรของตนเองเข้ามาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้
"ได้ดำเนินโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน โดยเปิดให้นำเครื่องจักรมาจดทะเบียน ภายใต้ พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2530 แต่ยังมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการน้อยไม่ถึง10 % ผมอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน หลังจากผู้ประกอบการได้ใบจดกรรมสิทธิ์แล้ว ให้นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้ ส่วนจะได้มูลค่าเท่าไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณา" นายพสุ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมที่สามารถนำเครื่องจักรจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้ทุกประเภท เช่น อุตสาหกรรมน้ำแข็ง , อาหารสำหรับสัตว์ , ผลิตสุราหรือเบียร์, เครื่องนุ่มห่ม , เหล็ก , โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก , เครื่องยนต์ , เครื่องจักรไฟฟ้า , เยื่อกระดาษ , ลูกกวาด ทอฟฟี่ช็อคโกแลต, นาฬิกา , เครื่องปั้นดินเผา , เครื่องกีฬา , อากาศยาน, รถยนต์, การเกษตร , จักรยานยนต์ , ปุ๋ย , เครื่องสำอาง , เครื่องเรียน - เครื่องตกแต่งภายในอาคาร, การเลี้ยงสัตว์ , กิจกรรมเกี่ยวกับสวนสนุก ยกเว้นอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากไม่มีสถานที่ตั้งชัดเจน
ส่วนขั้นตอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร พร้อมเอกสารหลักฐาน จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมฯ จะเข้าไปตรวจเครื่องจักร และเอกสารต่างๆ จะประกาศภายใน 5 วัน หลังจากยื่นและเอกสารครบถ้วน หากถูกอย่างถูก ผู้ประกอบการต้องมาชำระค่าธรรมเนียม เช่น มูลค่าเครื่องจักรไม่เกิน 5 หมื่นบาท เสียค่าธรรมเนียมเครื่องละ 50 บาท มูลค่าเกินกว่า 1 แสนบาท เสียเครื่องละ 250 บาท หรือถ้าจดทะเบียนหลายเครื่องและมีมูลค่าต่างกันในโรงงานเดียวกัน และครั้งเดียวกันคิดสูงสุดไม่เกิน 1 หมื่นบาท จากนั้นกรมฯ จะติดแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนให้ และออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 มีประเภทอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรสูงสุด คือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ 187 ราย จำนวนเครื่องจักร 846 เครื่อง รองลงมาคือเครื่องจักรการเกษตร 124 ราย จำนวนเครื่องจักร 124 เครื่อง , ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 97 ราย จำนวน 522 เครื่อง , การขัด การสี การโม่ หรือการป่นเมล็ด หรือหัวพืช 84 ราย จำนวน 448 เครื่อง, การพิมพ์ 57 ราย จำนวน 81 เครื่อง , ผลิตภัณฑ์อโลหะอื่น 51 ราย จำนวน 160 เครื่อง
ส่วนผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2515 - 2557 มีผู้ประกอบการจดทะเบียน 55,670 ราย โดยเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว 790,123 เครื่อง มีผู้ประกอบการขอจดทะเบียนจำนอง 36,549 เครื่อง มีเครื่องจักรที่ได้จดจำนองแล้วจำนวน 866,277 เครื่อง วงเงิน 4.3 ล้านล้านบาท
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์