กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ตั้งเป้าพัฒนากิจการ SMEs สู่การ เป็นกิจการ SMEs ที่ชาญฉลาด (Intelligent SMEs) เปิดตัวหลักสูตร “เศรษฐกิจดิจิทัล” นำร่องผนวกใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการ ปี 58 มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภาพของ SMEs เพื่อรองรับการเปิด AEC
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ตั้งเป้าพัฒนากิจการ SMEs สู่การ เป็นกิจการ SMEs ที่ชาญฉลาด (Intelligent SMEs) เปิดตัวหลักสูตร “เศรษฐกิจดิจิทัล” นำร่องผนวกใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการ ปี 58 มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภาพของ SMEs เพื่อรองรับการเปิด AEC
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ และจากสภาพการประกอบการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้ SMEs ไทยส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาด้านขาดหลักการบริหารจัดการ โดยเฉพาะ 4 องค์ประกอบหลักในการดำเนินธุรกิจ คือ การผลิต การเงินและบัญชี การตลาด และการจัดการบุคลากร
ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารการแข่งขัน(Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP) โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมฯ มีนโยบายที่จะผนวกเนื้อหาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital) และระบบซอฟท์แวร์ (Soft Ware) มาใช้ในการพัฒนา SMEs ที่เข้าร่วมโครงการสู่การเป็นกิจการ SMEs ที่ชาญฉลาด (Intelligent SMEs) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารจัดการคลังสินค้าและการตลาด ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภาพของ SMEs โดยอาศัยกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาควบคู่กับการพัฒนาและชี้นำให้ SMEs สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital) และระบบซอฟท์แวร์ (Soft Ware) ไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพอย่างยั่งยืนโดยสอดแทรกเนื้อหาดังกล่าวผ่าน 8 แผนงาน ดังนี้
1. แผนงานการพัฒนาและปรับปรุงการผลิต
2. แผนงานยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้เป็นระบบมาตรฐานสากล
3. แผนงานเพิ่มความสามารถและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนำไปสู่นวัตกรรมฯ
4. แผนงานเสริมสร้างความสามารถทางการบริหารการเงินและการลงทุน
5. แผนงานเพิ่มสมรรถนะและการจัดการเชิงกลยุทธ์และการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัล (E-Marketing)
6. แผนงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือการบริหารทุนบุคลากร
7. แผนงานการพัฒนาองค์กรด้านการจัดการความรู้หัวข้อในการให้คำปรึกษาแนะนำ
8. แผนงานการพัฒนาและปรับปรุงระบบโซ่อุปทาน
โดยมีหัวข้อในการให้คำปรึกษาแนะนำที่น่าสนใจ อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในกระบวนการผลิต การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำระบบมาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสู่นวัตกรรมการพัฒนาช่องทางการขายรูปแบบดิจิทัล และการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการองค์ความรู้ (KM) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทั้ง 8 แผนงานจะมีคณะที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานเฉพาะทาง มีห้องทดลองและอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อทำการทดลองวิจัยในการพัฒนากระบวนการทำงานที่ได้รับการรับรอง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มาเป็นผู้ดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกและฝึกอบรมในสถานประกอบการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้ง 20 กิจการที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับบริการ 4 แผนงาน จาก 8 แผนงานหลักข้างต้น นายอาทิตย์ กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ MDICP เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2542 และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าสากล และสามารถสร้างสมรรถนะในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยกระบวนการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการธุรกิจทั้งระบบให้เกิดการพัฒนาอย่างเชื่อมโยงกัน ตลอดจนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสู่การพัฒนาธุรกิจ
ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 17 ปี โครงการ MDICP มีสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 789 กิจการ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ไม่น้อยกว่า 41,980.97 ล้านบาท โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2557 (รุ่นที่ 17) โครงการดังกล่าวสามารถสร้างผลลัพธ์การพัฒนาสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 49 กิจการ ได้ดังนี้ ยอดขายเพิ่มขึ้น 356 ล้านบาท ลดของเสีย 22 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภัณฑ์ 101.31 ล้านบาท เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 82.72 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มผลิตภาพรวม (Productivity) 592.7 ล้านบาท (ณ เดือนสิงหาคม 2557 )
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม มีเป้าหมายที่จะพัฒนาสถานประกอบการภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถ การแข่งขัน จำนวน 48 กิจการ แยกเป็นสถานประกอบการในภูมิภาค จำนวน 28 กิจการ ดำเนินการโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 และในส่วนกลาง (พื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี) จำนวน 20 กิจการ ซึ่งกำหนดจัดพิธีเปิดและลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโครงการ MDICP และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในส่วนกลางจำนวน 20 กิจการ อย่างไรก็ตาม คาดว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 65 จะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ ลดต้นทุนร้อยละ 6 และลดของเสียร้อยละ 3 หรือมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9 นายอาทิตย์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ MDICP หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนา การจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4546, 0 2200 4526 โทรสาร 0-2354-3426 หรือ E-mail : mdicp@yahoo.com หรือเว็บไซต์ www.mdicp.com