"อดีต รมว.คลัง" แนะผู้ประกอบการไทยเร่งลงทุน "ซีเอ็มแอลวี" เจาะประชากร 170 ล้านคน เศรษฐกิจขยายตัวสูง 6-8% "กัมพูชา" ส่งเสริมลงทุนมากสุดในอาเซียน ด้าน บีโอไอ ชี้อสังหาฯ มีโอกาสลงทุนทุกประเภท
"อดีต รมว.คลัง" แนะผู้ประกอบการไทยเร่งลงทุน "ซีเอ็มแอลวี" เจาะประชากร 170 ล้านคน เศรษฐกิจขยายตัวสูง 6-8% "กัมพูชา" ส่งเสริมลงทุนมากสุดในอาเซียน ด้าน บีโอไอ ชี้อสังหาฯ มีโอกาสลงทุนทุกประเภท
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) จัดงานสัมมนา ถอดรหัสลับการลงทุนอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐาน ในซีแอลเอ็มวี โดยนายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "มองเศรษฐกิจ CLMV อย่าง ดร.ทนง" ว่า ธุรกิจไทยควรมองโอกาสที่จะขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งกำลังเปิดประเทศและอยู่ระหว่างพัฒนาในด้านต่างๆ ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตสูง 6-8% ต่อปี เทียบประเทศไทย การเติบโตเฉลี่ย 4-5% เป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
ซีแอลเอ็มวี เป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรรวมกว่า 170 ล้านคน ประเทศเหล่านี้บริโภคสินค้าไทยมาก และเป็นตลาดแรงงานให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานต่ำกว่าไทย
"ต้องดูว่าจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกับ 4 ประเทศอย่างไร เมื่อไทยเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในเชิงเศรษฐกิจ ขณะที่ซีแอลเอ็มวีอยู่ในช่วงเปิดประเทศ เปลี่ยนแปลงจากสังคมนิยมเป็นระบบตลาดเสรี ต้องใช้ระยะเวลา อาจมีการติดขัดด้านกระบวนการบ้าง แต่เชื่อว่าในอนาคตจะปรับดีขึ้นตามลำดับ"
การเร่งเปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องเร่งลงทุน มีการใช้เงินจำนวนมาก ทำให้การค้าติดลบ งบประมาณขาดดุล ส่งผลให้ค่าเงินตก อาจส่งผลเสียในอนาคต จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาช่วยขับเคลื่อน เป็นโอกาสการลงทุนของธุรกิจไทยที่ต้องการขยายตลาด
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรวางกลยุทธ์ลงทุนระยะยาว ต้องศึกษาและเข้าใจยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศว่ามีความต้องการสินค้าและบริการอะไร เลือกพันธมิตรท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญ
สำหรับกัมพูชา มีการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์มากที่สุดในกลุ่มอาเซียน มีสถานที่ท่องเที่ยวที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว ภาวะเศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวได้มาก ประเทศลาว ประชากรน้อย แต่มีที่ดินและทรัพยากรจำนวนมาก ผู้ประกอบการมีโอกาสที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้
ทางด้าน เมียนมาร์ แรงงานมีราคาถูก การทำธุรกิจยังใช้เงินสด ไม่มีระบบสินเชื่อ ธุรกิจการเงินจึงยังมีโอกาสมาก ขณะที่เวียดนาม เป็นประเทศที่โตเร็ว เป็นฐานการผลิตต่างๆ
"กลุ่มซีแอลเอ็มวีเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่างไทย ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ขยายการลงทุนเข้าไปในซีแอลเอ็มวีจำนวนมาก ซึ่งการเข้าไปลงทุนของประเทศในอาเซียนด้วยกันเป็นการถ่วงดุลดำนาจ ลดการครอบงำของประเทศใหญ่ต่อกลุ่มซีแอลเอ็มวี"
หากซีแอลเอ็มวี ต้องการการลงทุนระยะยาวเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งมีการพัฒนากฎระเบียบการลงทุนในมาตรฐานสากล มองว่าไทยมีโอกาสสูงที่จะขยายการลงทุน ด้วยการส่งผ่านเทคโนโลยี รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้าไปในกลุ่มประเทศนี้ เพราะมีทรัพยากร แรงงาน และต้นทุนแรงงานต่ำกว่าไทย
นางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า กลุ่มซีแอลเอ็มวี มีความน่าสนใจลงทุน เนื่องจากมีทรัพยากรจำนวนมาก มีแรงงานและต้นทุนแรงงานต่ำ รวมทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง การเข้าไปลงทุนมีทั้งลงทุนเพื่อผลิตและเพื่อขายในประเทศ หรือใช้เป็นฐานการผลิตธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเข้าไปลงทุน คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี ธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน บริการและท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม สินค้าอุปโภคบริโภค อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง พลังงานทดแทน เป็นต้น
ในปี 2556 ที่ผ่านมา การออกไปลงทุนต่างประเทศของไทยมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจำนวนนี้สัดส่วน 1% เป็นการลงทุนของภาคอสังหาฯ ซึ่งกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนจำนวนมาก เป็นโอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการไทย ทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงแรม อพาร์ตเมนต์ โรงงาน คลังสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรมองโอกาสการลงทุนในเมืองรอง เพราะในอนาคตจะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ จากปัจจุบันเมืองหลักมีต้นทุนสูง
สำหรับ บีโอไอ ได้มีการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยที่จะขยายการลงทุนต่างประเทศ เช่น มีการจัดตั้งศูนย์ธุรกิจไทยในต่างประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาการลงทุนและกฎระเบียบการลงทุน โดย บีโอไอ เน้นส่งเสริมธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในไทย เป็นการกระจายการลงทุนด้านแรงงานไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่ต้นทุนแรงงานต่ำกว่า
ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจออนไลน์