กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือนักวิจัย ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าและเครื่องแต่งกายไทย
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือนักวิจัย ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าและเครื่องแต่งกายไทย ประเดิมจัดโครงการ “ยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม” ภายใต้โครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายก้าวสู่สากล” เพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์ OTOP ต้นแบบ ระดับ 4 – 5 ดาว ที่มีศักยภาพกว่า 80 ราย จากจำนวน 450 รายทั่วประเทศ
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ถือว่าเป็นกลุ่มกิจการที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจของวิสาหกิจชุมชนในระดับท้องถิ่นมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายที่เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับ 4 – 5 ดาวกว่า 450 ราย
ทั้งนี้ บางส่วนยังขาดองค์ความรู้ แนวทางการปฏิบัติ และกลยุทธ์การต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้นเพื่อการก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ จำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีสมบัติอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความแตกต่างเหนือคู่แข่งทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถรองรับคำสั่งซื้อของลูกค้าได้
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า กรมฯ จึงร่วมมือกับภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโครงการ “ยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสร้างและพัฒนานวัตกรรม ให้แก่กลุ่มชุมชนที่มีการจัดการการผลิต การค้า และการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชั่นใหม่ทำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพมาตรฐาน ความสวยงาม และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนและนำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยโครงการดังกล่าวนำร่องคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP ที่มีศักยภาพในระดับ 4-5 ดาว จำนวน 80 ราย ทั่วประเทศทุกภูมิภาค เพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าใจเทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการหรือนวัตกรรมระบบ และสามารถประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ได้พิจารณาและมอบรางวัล “สานเส้นทางนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP” แก่กลุ่ม OTOP ที่ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำเทคโนโลยีไปต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีคุณภาพและสามารถนำออกสู่ท้องตลาดแล้ว รวมทั้งเป็นการประกาศเกียรติคุณและให้กำลังใจกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมไปต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ของตนเองต่อไป โดยผลงานที่ได้รับรางวัลมี ดังนี้
1. กลุ่มผ้าไหมบ้านครัว ชื่อผลิตภัณฑ์ เนคไทผ้าไหมสะท้อนน้ำ
2. กลุ่มพิมพ์ฝ้าย เขียนไหม ชื่อผลิตภัณฑ์ กระเป๋าผ้าฝ้ายผสมกัญชงสะท้อนน้ำ
3. กลุ่มอาชีพบ้านตาลกลาง ชื่อผลิตภัณฑ์ กระโปรงผ้าสามกษัตริย์
4. กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเก็ต ชื่อผลิตภัณฑ์ ผ้าคลุมไหล่ลายนกยูงเพิ่มความนุ่ม
5. กลุ่มหัตกรรมผ้าไหมบ้านดู่ ชื่อผลิตภัณฑ์ พวงกุญแจกลิ่นหอม
6. กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย ชื่อผลิตภัณฑ์ ชุดเดรสผ้าไหมกันยับ
7. กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง ชื่อผลิตภัณฑ์ ชุดเดรสผ้าฝ้าแขนกิโมโนกันยับ
8. กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองเทียมพัฒนา ชื่อผลิตภัณฑ์ กระโปรงผ้าไหมทอจากเส้นด้ายไหมย้อมสีธรรมชาติกลิ่นหอม
9. กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองเทียมพัฒนา ชื่อผลิตภัณฑ์ รองเท้าส้นตึกสะท้อนน้ำ
อย่างไรก็ดี กรมฯ พร้อมให้การสนับสนุน โดยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนานวัตกรรมและพัฒนารูปแบบใหม่ไป จัดแสดงที่งานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการวิเคราะห์การทดสอบตลาดและนำผลลัพธ์มาพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต ทั้งนี้ เชื่อว่าการดำเนิน โครงการ”ยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม” จะเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยผลักดันให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถลดต้นทุน สร้างท้องถิ่นสู่ชุมชนให้เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายในกลุ่มธุรกิจเดียวการหรือที่เกี่ยวข้องพร้อมก้าวสู่ตลาดในต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมอนาคตอันใกล้ นายอาทิตย์ กล่าวสรุป
ภายในงานดังกล่าว กรมฯ ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “ประสบการณ์ในการ บุกตลาดต่างประเทศและโอกาสการค้าการลงทุน” ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม พร้อมมอบรางวัล “สานเส้นทางนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP” โดยจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องแซฟไฟร์ 203 อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ หรือประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0 2562 5061 โทรสาร 0 2942 8663 หรือโครงการอื่น ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสอบถามได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กทม. โทร 0 2202 4501, 0 2354 3432 โทรสาร 0 2354 3269