นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาสินค้าในปี 2558 จะยังอยู่ในภาวะปกติ เพราะยังไม่มีปัจจัยและแรงกดดันใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ยังอยู่ในช่วงที่กรมขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้า จึงมั่นใจได..
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาสินค้าในปี 2558 จะยังอยู่ในภาวะปกติ เพราะยังไม่มีปัจจัยและแรงกดดันใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ยังอยู่ในช่วงที่กรมขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้า จึงมั่นใจได้ว่าเริ่มปีใหม่มา ราคาสินค้าจะยังไม่เปลี่ยนแปลง
นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า เมื่อพ้นช่วงขอความร่วมมือตรึงราคาแล้ว ยังเชื่อว่าสินค้าส่วนใหญ่จะยังคงมีราคาคงเดิม เพราะแรงกดดันด้านวัตถุดิบยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มลดลง ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลง ขณะที่วัตถุดิบสำคัญที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ก็มีแนวโน้มลดลงตามน้ำมันดิบและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เช่น กลุ่มเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และปุ๋ยเคมี
"น้ำมันที่ลดลงทำให้ต้นทุนขนส่งลดลง ส่วนจะมีผลทำให้ราคาสินค้าปรับลดลงมาด้วยหรือไม่นั้น เบื้องต้นไม่พบว่ามีผลจนทำให้สินค้าต้องปรับลดราคาลง อีกทั้งก่อนหน้านี้เอกชนก็ตรึงราคาสินค้ามาต่อเนื่อง แต่หากในอนาคตน้ำมันลดลงจนมีนัยสำคัญต่อต้นทุนสินค้า ก็จะเข้าไปดูอีกทีว่าจะมีผลต่อราคาสินค้ารายการใดที่ลดลง" นายบุณยฤทธิ์กล่าว
นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า กรมได้วิเคราะห์ต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงจาก 29.99 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ 26.89 บาทต่อลิตร หรือลดลง 3.10 บาทต่อลิตร พบว่ามีผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงเล็กน้อยอย่างไม่มีนัยสำคัญ เนื่องจากน้ำมันดีเซลมีสัดส่วน 40% ในต้นทุนขนส่งสินค้า สินค้าส่วนใหญ่ได้รับผลเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับราคาขายปลีก เช่น ปูนซีเมนต์ ลดลง 0.713% ถือว่าสูงสุดแล้ว ส่วนถุงพลาสติก ลดลง 0.0114% ถือว่าต่ำที่สุด ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ปลากระป๋อง ลดลง 0.08% น้ำมันปาล์ม ลดลง 0.16% ยาสีฟัน ลดลง 0.06% และน้ำปลา ลดลง 0.12% ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันผู้ผลิตได้รับผลดีจากการที่น้ำมันดีเซลลดราคา แต่ถ้าต่อไปน้ำมันดีเซลปรับขึ้นราคา กรมก็จะไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาสินค้าด้วยเหตุผลว่าน้ำมันขึ้นราคา
"ส่วนปัจจัยลบที่จะมีผลต่อราคาสินค้าในปี 2558 ที่น่าจับตาคือ ค่าเงินบาทที่อาจจะอ่อนค่าลง อาจทำให้ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งกรมมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว อีกปัจจัยที่ต้องจับตาคือ ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรบางตัวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก เช่น เมล็ดถั่วเหลือง และกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น" นายบุณยฤทธิ์กล่าว
นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับโครงการธงฟ้าในปี 2558 กรมจะยังคงใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้ประชาชนต่อไป แต่จะเจาะพื้นที่ห่างไกล และมุ่งเน้นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพจริงๆ ให้มากขึ้น ไม่ใช่จัดแบบงานแฟร์ที่มีสินค้าทุกอย่าง โดยสินค้าที่จะเอาไปขายจะเน้นสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาลทราย เนื้อหมู ไข่ไก่ สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เป็นต้น ส่วนของที่ระลึก ของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน จะไม่เอาไปขายแล้ว
พร้อมกันนี้ กรมจะร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าไปดูแลค่าครองชีพ เช่น ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยจัดตลาดนัดชุมชน และร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดตลาดนัดขายของถูกตามเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ
ที่มา : นสพ.มติชน