ชงมาสเตอร์แพลนท่องเที่ยวดันเศรษฐกิจดิจิทัลเสริมทัพ ททท. หวังแก้ปัญหากับดัก"รายได้-จำนวน"นักท่องเที่ยว
ชงมาสเตอร์แพลนท่องเที่ยวดันเศรษฐกิจดิจิทัลเสริมทัพ ททท. หวังแก้ปัญหากับดัก"รายได้-จำนวน"นักท่องเที่ยว
ททท.เสนอประเทศไทยทำมาสเตอร์แพลนท่องเที่ยวครั้งแรก ยึดแนวคิด"พอเพียง" หวังกำหนดทิศทางพัฒนา-การลงทุนสอดคล้องอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวและชุมชน แก้ปัญหากับดักรายได้-จำนวนนักท่องเที่ยว ชูเศรษฐกิจดิจิทัลบูรณาการแผนการตลาด เสริมประสิทธิภาพใช้งบประมาณ
นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯได้เสนอแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “พอเพียง” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำให้เกิดการบูรณาการทั้งด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการตลาดให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งหน่วยงานในกระทรวงการท่องเที่ยวเอง หรือหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ หากกระทรวงคมนาคมมีแผนการขยายเส้นทางคมนาคมอย่างไร จะมีการวางเส้นทางท่องเที่ยวให้สอดคล้อง และวิเคราะห์องค์ประกอบการลงทุนเสริมด้านอื่นๆ
"มาสเตอร์แพลน ที่จะจัดทำเป็นครั้งแรกนี้ จะช่วยกำหนดขีดความสามารถรองรับการแข่งขันให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ (Carrying Capacity) ในแต่ละปีว่าควรจะมีนักท่องเที่ยวเท่าใด และจะใช้เวลาอย่างไรในการพัฒนาไปสู่การยกระดับรายได้ต่อหัวให้สูงขึ้น แทนการนำเข้ามาในเชิงปริมาณเหมือนที่ผ่านมา"
หากมีแผนดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่ไม่มีการกำหนดขอบเขตเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ อย่างชัดเจน และส่งผลโดยตรงทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างราคา ทำให้โรงแรมที่พักไม่สามารถขายได้ในระดับที่ควรจะเป็นส่งผลต่อเนื่องทำให้รายได้ท่องเที่ยวของประเทศยังไม่สูงอย่างที่ควรเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา
ดันชุมชนวางสินค้าท่องเที่ยว
ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไทยได้รับความนิยมทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติ มีส่วนทำให้เกิดความกังวลเรื่องการใช้ทรัพยากร และยังส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ยังไม่มีการมาตรการรับมือการหลั่งไหลเข้ามาของกระแสการท่องเที่ยวที่ดีพอ เห็นได้จากช่วงเทศกาลปีใหม่มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวหลายแห่งจนทำให้เกิดปัญหาเสื่อมโทรม
"หลายปีที่ผ่านมา เราติดกับดักเรื่องการทำรายได้ หรือกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้แหล่งท่องเที่ยวรองรับไม่ทัน และไม่เคยพูดถึงการจำกัดนักท่องเที่ยว เนื่องจากไปกลัวแต่ว่าจะทำไม่ได้ตามตัวชี้วัด" นายธวัชชัย กล่าว
หากมีมาสเตอร์แพลนที่มีทั้งทิศทางและเป้าหมายชัดเจน วางนโยบายจากล่างสู่บน ให้สังคมและชุมชนเป็นตัวนำในการกำหนดสินค้าที่ต้องการจะพัฒนาส่งเสริม เพราะชุมชนจะรู้ว่าควรนำจุดแข็งเรื่องใดมาใช้ประโยชน์ และวางแนวทางให้เกิดการกำกับดูแลในพื้นที่กันเองเพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาว ทุกแห่งจะรู้ขั้นตอนว่ากำลังดำเนินไปสู่เป้าหมายใด และนักลงทุนต่างๆ ก็จะทราบโครงสร้างทั้งหมด และสามารถประเมินและวิเคราะห์ได้ว่าจะลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่าและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาหลักที่มีอยู่
ชงแผนตลาดรับ'ดิจิทัลอีโคโนมี'
นายธวัชชัย กล่าวว่าหากมีการจัดทำมาสเตอร์แพลนตามแนวคิดดังกล่าว อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการพัฒนา เช่น ภูเก็ต กำหนดเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ หากสามารถนำแนวคิด"พอเพียง" มาใช้ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านท่องเที่ยวในแง่ที่สร้างความสุข และคนในชุมชนมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งยังรักษาความโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ใช่การขายวัฒนธรรมประดิษฐ์ อีกทั้งสอดคล้องกับการรองรับตามศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มคุณค่าและยกระดับรายได้นักท่องเที่ยวต่อหัวเพิ่มขึ้น
สำหรับททท.ในฐานะหน่วยงานด้านการตลาด จะมีความชัดเจนด้านส่งเสริมการตลาดและใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การนำแผนเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลมาพิจารณาร่วมในมาสเตอร์แพลน เพื่อนำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนการใช้งบประมาณกับการตลาดแบบดั้งเดิม
ส่วนแนวทางการกำหนดพื้นที่ในการพัฒนาได้เสนอให้จัดทำพร้อมกัน 8 คลัสเตอร์ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาศึกษาและจัดทำเป็นแผนพัฒนามาแล้วในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา โดยอาจทำคู่ขนานไปกับปีงบประมาณ 2558