สรรพากรเว้นภาษี E book หนุนคนอ่านหนังสือ

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมสรรพากร ประกาศยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ให้แก่การให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)



     นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมสรรพากร ประกาศยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ให้แก่การให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ประเภทหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเตอร์เนต เพื่อส่งเสริมการอ่านทั้งในรูปของกระดาษ และทางE-Book เนื่องจากเมื่อปี 2535 กรมสรรพากร ได้ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มธุรกิจหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน แต่ขณะนั้น E-Book ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเช่นปัจจุบัน จึงทำให้บริษัทมีรายรับจากการให้บริการกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีเพราะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการ ดังกล่าว

    กรมสรรพากรเห็นว่า ควรยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก E-Book ซึ่งเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบของหนังสือที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ประกอบการได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาสำหรับให้ลูกค้าดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเป็นรายเดือนหรือรายครั้ง

    โดยผู้อ่านต้องสมัครบัญชีผู้ใช้แล้วยื่นคำขอในการดาวน์โหลดเนื้อหาของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แล้วจ่ายค่าบริการผ่านระบบอินเตอร์เนต ผู้อ่านจึงจะมีสิทธิดาวน์โหลดเนื้อหาของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ดังนั้น การให้ลูกค้าดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความเป็นธรรมแก่การให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จึงควรให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกับผู้ให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และตำราเรียนในรูปของกระดาษ

    อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ประกอบการได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว ก็ควรจะลดค่าบริการให้กับผู้อ่านด้วย ส่วนจะปรับลดค่าโหลดข้อมูลลงในภายหลังหรือไม่ คงแล้วแต่ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการว่าพอใจในเรื่องของราคาและเนื้อหาที่ได้รับหรือไม่

    “กรมสรรพากรได้ประเมินเม็ดเงินภาษีที่ต้องสูญไปจากการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ E-Book พบว่ามีไม่มาก แม้ว่าในอนาคตธุรกิจนี้อาจจะขยายตัวมีคนนิยมอ่านE-Book มากขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็น

มาตรการส่งเสริมการอ่านที่จะช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้มากขึ้น” นายประสงค์ กล่าว

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS