​กกร.ตั้งทีมศึกษายกเลิกจีเอสพีคาด 6 เดือนตัวเลขส่งออกลดฮวบ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร (กกร.) กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบจากการที่ไทยถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เพื่อประเมินว่าสินค้าที่ส่งไปยุโรปภายใต้สิทธิจีเอสพี..



    นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร (กกร.) กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบจากการที่ไทยถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เพื่อประเมินว่าสินค้าที่ส่งไปยุโรปภายใต้สิทธิจีเอสพีมูลค่ารวม 6,000 ล้านดอลลาร์ มีกลุ่มรายการใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ มากน้อยเพียงใด โดยบางกลุ่มจะได้รับผลกระทบสูงตั้งแต่ 10-30% ของสัดส่วนอัตราภาษีหลังไม่มีจีเอสพี

    "กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน ม.ค. นี้ก่อนหารือภาครัฐเพื่อทำแผนช่วยเหลือ หรือบรรเทาผลกระทบในช่วงที่การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะการที่ไทยไม่มีจีเอสพี จะทำให้ขีดแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง ขณะที่ประเทศคู่แข่งในกลุ่มสินค้าเดียวกัน จาก เวียดนาม และอินโดนีเซียยังได้รับสิทธินี้อยู่"

    ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การถูกตัดจีเอสพีจากอียู อาจทำให้ในปี 2558 มูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังอียูลดลงประมาณ 10% จากในปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์

    ผู้ส่งออกของไทยใช้สิทธิจีเอสพี อียู สูงถึง 87.66% โดยผลกระทบการส่งออกแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งเป็นสินค้าที่พึ่งพาตลาดอียูสูง และมีการใช้สิทธิ จีเอสพีสูง ได้แก่ ถุงมือยางที่ไม่ใช้ทางการแพทย์ ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง รถจักรยานยนต์ 250-500 ซีซี และยางนอกรถจักรยานยนต์

    ระดับที่ 2 มีการขอใช้สิทธิจีเอสพี สูงแต่มีการส่งออกไปยังตลาดอียูไม่มากนัก และยังมีทางเลือกในการส่งออกไปตลาดอื่น ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง รถบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ซึ่งรวมถึงรถกระบะ เครื่องปรับอากาศ ยางนอกรถยนต์นั่ง กระสอบ ถุง กรวยพลาสติก พลาสติกอีพอกไซด์เรซิน และมอเตอร์ไม่เกิน 37.5 วัตต์

    ส่วนในระดับ 3 มีการพึ่งพาตลาดอียูเป็นตลาดหลัก แต่มีสัดส่วนการขอใช้สิทธิจีเอสพีของอียูไม่มาก ได้แก่ น้ำมันปาล์ม เครื่องปรับอากาศที่ไม่มีหน่วยทำความเย็น รถจักรยานยนต์ 500-800 ซีซี และระดับที่ 4 มีการส่งออกไปตลาดอียู และการขอใช้สิทธิจีเอสพีของอียูไม่มาก ได้แก่ เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดคงที่ เครื่องรับวิทยุที่ใช้ในยานยนต์ และของอื่นๆที่ทำด้วยพลาสติก

    ทั้งนี้ สินค้า 5 อันดับแรกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ 1. รถบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ได้รับผลกระทบมีมูลค่า 16.72 ล้านดอลลาร์ 2.ยางนอกรถยนต์นั่ง ได้รับผลกระทบ 11.15 ล้านดอลลาร์ 3. ถุงมือยางที่ไม่ใช่การแพทย์ ได้รับผลกระทบ 7.93 ล้านดอลลาร์ 4. เครื่องปรับอากาศ ได้รับผลกระทบ 7.8 ล้านดอลลาร์ และ5. กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง 6.35 ล้านดอลลาร์

    นายนพพร กล่าวต่อว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 จะเห็นยอดส่งออกลดลงอย่างชัดเจน เพราะผู้นำเข้าอียู ได้เร่งนำเข้าไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ก่อนที่จะถูกตัดจีเอสพี และคาดว่าจะค่อยๆฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งมองว่าในปีแรกผลกระทบน่าจะไม่มาก เพราะผู้นำเข้ายังคงต้องพึ่งพาสินค้าจากไทย แต่หากเกิน 1 ปีขึ้นไป ผลกระทบจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ซื้อจะหันไปลองใช้สินค้าจากตลาดใหม่และลดการนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้น

    "การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ ผู้ประกอบการในกลุ่มที่พึ่งพาการใช้จีเอสพีสูง ควรจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้รับสิทธิจีเอสพีจากอียู และควรจะหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีต้นทุนลดลง"

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS