เศรษฐีแห่โอนที่ดินหนีภาษีมรดกยอดโอนเพิ่มขึ้น 20-30%

เศรษฐีแห่โอนที่ดินหนีภาษีมรดก กรมที่ดินเผยยอดโอนเพิ่มขึ้น 20-30% ส่วนราคาเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่ม 20%



    เศรษฐีแห่โอนที่ดินหนีภาษีมรดก กรมที่ดินเผยยอดโอนเพิ่มขึ้น 20-30% ส่วนราคาเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่ม 20%

    เขตเศรษฐกิจพิเศษพุ่ง 100% ด้านกรมธนารักษ์ เตรียมประเมินราคาทรัพย์สินใหม่ เตรียมรองรับภาษี"ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ขณะธุรกิจอสังหาฯเผยมีคนเสนอขายที่ดินเพิ่ม ส่งผลราคาไม่ขยับมาก

    การโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเริ่มเกิดขึ้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎหมายภาษีการรับมรดกและภาษีการรับการให้ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิ.ย.นี้

    หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้ผู้รับมรดก 10% ในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ขณะที่การให้กันเสียภาษี 5% ในส่วนที่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีความกังวลเช่นกันว่าจะมีการเร่งโอน รวมทั้งหาวิธีหลีกเลี่ยงภาษี

    นายสมคิด ศริ ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพกรมที่ดิน กล่าวว่าในช่วงตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค. มียอดโอนที่ดินไปยังลูกหลานของบรรดาเศรษฐีที่ดินทั้งมีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียง เพิ่มกว่าช่วงปกติ 20-30% ส่วนใหญ่จะเป็นการโอนที่ดินในเขตกทม.เป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าที่ดินในการโอนแต่ละแปลงหลายร้อยล้านบาท ทำให้สำนักงานที่ดินบางแห่ง เจ้าหน้าที่ต้องทำงานถึง 21.00 น. เพื่อให้ทันกับการโอนของประชาชน

    "กรมที่ดินประเมินจากพฤติกรรมการโอนได้ว่า ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก" นายสมคิด กล่าว

    การเร่งโอนดังกล่าวถือว่าเกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังร่างกฎหมายอีก คือ ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยล่าสุดกรมธนารักษ์เตรียมทำการประเมินที่ดิน เพื่อให้ทันใช้หากกฎหมายมีผลบังคับใช้

    ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หวังว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะทำให้รายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้น นอกจากสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม

    วานนี้ (7 ม.ค.) มีการลงนามบันทึกบันทึกข้อตกลงระหว่าง กรมที่ดินกับกรมธนารักษ์ ว่าด้วยการขอใช้ข้อมูลที่ดินเพื่อการจัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ พ.ศ. 2558

    นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่าการจัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อรองรับการขยายพื้นที่การประเมินราคาที่ดินรายแปลงครอบคลุมทั้งประเทศ รองรับร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

    ทั้งนี้ กรมธนารักษ์จะขอใช้ข้อมูลแผนที่ ข้อมูลทะเบียนที่ดิน ข้อมูลอาคารชุด รวมทั้ง ข้อมูลการซื้อขายเพื่อการวิเคราะห์กำหนดราคาประเมิน ก่อนจัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ส่งให้กรมที่ดินใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

    นายนริศ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประเมินราคาที่ดินรายแปลง ขณะนี้กรมฯ สามารถดำเนินการได้ประมาณ 8 ล้านแปลงทั่วประเทศ และมีแผนที่จะดำเนินการประเมินทั้งหมดให้แล้วเสร็จ ก่อนที่ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมของที่ดินทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมที่ดินว่า จะสามารถส่งข้อมูลมาให้กรมฯได้ตามระยะเวลาหรือไม่

    "กรมที่ดินได้จัดทำแผนที่ข้อมูลที่ดินดังกล่าวได้แล้ว 15 ล้านแปลงทั่วประเทศ"

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS