​กรมการค้าภายในยอมรับราคาสินค้าอาจไม่ลดทันที

กรมการค้าภายในยอมรับ ราคาสินค้าอาจลดลงไม่ได้ทันที เหตุผู้ประกอบการทำสัญญาขนส่งล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ราคาดีเซลยังไม่ลดลง แต่จะจี้ให้ลดราคาสินค้าลงเร็วที่สุด ถ้าผู้ประกอบการไม่ยอม จะใช้มาตรการกฎหมายเล่นงาน พร้อมมอบตราสัญลักษณ์เติมน้ำมันเต็มลิตร สร้างความมั่นใจประชาชนไม่ถูกปั๊มโกงน้ำมัน




    กรมการค้าภายในยอมรับ ราคาสินค้าอาจลดลงไม่ได้ทันที เหตุผู้ประกอบการทำสัญญาขนส่งล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ราคาดีเซลยังไม่ลดลง แต่จะจี้ให้ลดราคาสินค้าลงเร็วที่สุด ถ้าผู้ประกอบการไม่ยอม จะใช้มาตรการกฎหมายเล่นงาน พร้อมมอบตราสัญลักษณ์เติมน้ำมันเต็มลิตร สร้างความมั่นใจประชาชนไม่ถูกปั๊มโกงน้ำมัน

    นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายในเปิดเผยว่า จากกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมฯได้หารือกับผู้ประกอบการสินค้าหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ ใช้น้ำหนักบรรทุก และใช้พื้นที่ในการบรรทุกมาก เพราะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดีเซลที่ขณะนี้ลดลงเกือบลิตรละ 4 บาทมาอยู่ที่ลิตรละ 26.39 บาทแล้ว โดยน้ำมันดีเซล มีสัดส่วนประมาณ 40% ของต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการระบุว่า อาจปรับลดราคาลงได้ แต่จะลดลงเท่าไร เมื่อไร หรือจะลดลงภายในเดือนม.ค.นี้ ตามที่รมว.พาณิชย์กำหนดไว้หรือไม่ คงต้องพิจารณาให้ละเอียดอีกครั้ง เพราะผู้ประกอบการได้ทำสัญญาการขนส่งกับผู้ประกอบการรถบรรทุกไว้เป็นเวลา 3-6 เดือน ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันดีเซลยังไม่ได้ปรับลดลง จึงอาจไม่สามารถลดราคาสินค้าลงได้ทันที

    "ยอมรับว่าการพิจารณาต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ไม่ได้มีเฉพาะต้นทุนการขนส่งจากราคาน้ำมันดีเซล หรือก๊าซเท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนด้านอื่นๆ อีก ทั้งวัตถุดิบนำเข้า ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน ต้องวิเคราะห์ต้นทุนต่างๆ ให้รอบคอบ จึงยังตอบไม่ได้ว่า จะมีสินค้าใดบ้างที่ลดราคาได้ และลดลงเท่าไร แต่จะพยายามให้ลดลงได้เร็วที่สุด ซึ่งกรมฯจะเร่งสรุปโครงสร้างต้นทุนสินค้าก่อนนำเสนอรมว.พาณิชย์พิจารณาเร็วๆ นี้"

    ส่วนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากการผลิตปิโตรเลียม เช่น ปุ๋ยเคมี ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าผู้ประกอบการจะลดราคาลงได้หรือไม่ แม้ไทยต้องนำเข้าแม่ปุ๋ย และขณะนี้ราคาแม่ปุ๋ยลดลงตามราคาน้ำมันที่ลดลง แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จึงอาจทำให้ราคาแม่ปุ๋ยที่ลดลง ไม่ได้ลดลงมากนัก กรมฯจึงต้องวิเคราะห์ต้นทุนให้ละเอียดรอบคอบก่อน อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ต้นทุนเสร็จแล้ว และผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือลดราคาสินค้าลง กรมฯจะใช้มาตรการเชิงบริหาร เพื่อเชิญมาหารือกันก่อน แต่หากยังไม่ให้ความร่วมมืออีกก็จะใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยหากขายสินค้าราคาสูงเกินควร จะมีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุก 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542

    สำหรับราคาอาหารปรุงสำเร็จ โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้า ยังมีราคาแพงนั้น กรมฯได้พยายามหารือกับผู้ประกอบการห้างฯให้ไม่ขึ้นค่าเช่ากับผู้ค้าอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะหากในเร็วๆ นี้ มีการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ก็จะทำให้ต้นทุนของผู้ค้าอาหารลดลง และผู้ประกอบการห้างฯก็น่าจะลดค่าเช่าลงได้ เช่นเดียวกัน หากค่าเอฟทีปรับลดลงได้อีก ก็น่าจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดได้อีก เพราะค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าด้วย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

    

NEWS & TRENDS