หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 24 ช่อง พร้อมเดินหน้าแจกคูปองซื้อกล่องรับสัญญาณ แต่ด้วยจำนวนช่อง (ฟรีทีวี) ที่เพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นความท้าทายของผู้ได้รับใบอนุญาตที่จะดึงอายบอลล์ สวนทางพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในเ..
หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 24 ช่อง พร้อมเดินหน้าแจกคูปองซื้อกล่องรับสัญญาณ แต่ด้วยจำนวนช่อง (ฟรีทีวี) ที่เพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นความท้าทายของผู้ได้รับใบอนุญาตที่จะดึงอายบอลล์ สวนทางพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในเมืองที่ดูทีวีกันน้อยลง
ขณะที่แนวคิดการสร้างประโยชน์เพิ่มขึ้นจากทีวีดิจิทัลของ กสท. คือ นโยบายการออกใบอนุญาตการให้บริการโทรทัศน์แบบประยุกต์ให้ธุรกิจขายสินค้าผ่านโทรทัศน์ (ทีวีโฮมช็อปปิ้ง)
แม้เมืองไทยจะมีผู้ให้บริการโฮมช็อปปิ้งอยู่หลายราย ปัจจุบันมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีกฎ กติกา เพื่อสร้างมาตรฐานและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างแข็งแรง
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธาน กสท. กล่าวว่า "ทีวีโฮมช็อปปิ้ง" เป็นการผสมผสานธุรกิจระหว่าง "มีเดีย+ค้าปลีก+ไอที" เป็นการทำทีวีโดยไม่ต้องขายโฆษณา แต่เป็นช่องทางการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานไม่น้อยกว่าผู้ประกอบการ "ฟรีทีวี"
หากสามารถส่งเสริมให้ "ทีวีโฮมช็อปปิ้ง" ในไทยเติบโตอย่างมีระบบภายใต้กฎกติกา ก็จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งตามนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล ที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
หากพูดถึงธุรกิจ "ทีวีโฮมช็อปปิ้ง" คงต้องยกให้เกาหลีใต้ ถือว่าเป็นต้นแบบและประเทศที่ทำธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งอันดับ 1 ของโลก จนได้ชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมสร้างชาติของเกาหลีใต้ มูลค่าตลาดสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท จำหน่ายสินค้าทุกประเภทแม้กระทั่งอาหาร ไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
นอกจากนี้ทีวีโฮมช็อปปิ้งของเกาหลียังกลายเป็นช่องทางสำคัญในการขายสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าไปขายสินค้าบนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ได้ ทั้งเป็นช่องทางขยายตลาดต่างประเทศด้วย เพราะยอดขาย 4 แสนล้านบาท เป็นสัดส่วนของการส่งออกถึง 30%
กลางเดือนธันวาคม 2557 สำนักงาน กสทช.พาสื่อมวลชนไทยไปดูเบื้องหลังความสำเร็จ "ทีวีโฮมช็อปปิ้ง" ของประเทศเกาหลีใต้
พ.อ.นทีกล่าวว่า จากที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกระทรวงไอซีทีเพื่อพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ ได้ทราบว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้ให้ใบอนุญาตทีวีโฮมช็อปปิ้ง 6 ราย และกำลังจะเพิ่มอีก 1 ราย เป็นใบอนุญาตช่องรายการทีวีโฮมช็อปปิ้ง ต่างจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นเพียงรายการหนึ่งในช่องทีวีปกติ
นโยบายของเกาหลีจำกัดจำนวนใบอนุญาตโดยพิจารณาตามขนาดอุตสาหกรรมเพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ รวมทั้งค่าธรรมเนียมจะคิดจากกำไรของบริษัท ซึ่งมีความแตกต่างกับประเทศไทยที่มีการคิดค่าธรรมเนียมจากรายได้
"กสท.ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนในการออกใบอนุญาต รวมทั้งแนวคิดการจำกัดจำนวนผู้ประกอบการจะทำเหมือนเกาหลีได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้มีมากจนเกินไปจนธุรกิจพังแต่ขณะเดียวกันต้องไม่ปิดกั้นรายเล็ก เรื่องนี้ กสทช.ต้องศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วน นำข้อมูลจากหลาย ๆ ประเทศมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทย"
สำหรับยักษ์ใหญ่รายแรกที่ได้ไปตามรอยความสำเร็จคือ "จีเอส โฮมช้อปปิ้ง" ซึ่งบุกเบิกธุรกิจมากว่า 20 ปี และเข้ามาเปิดตลาดในไทยแล้ว โดยเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับกลุ่มทรูวิชั่นส์, ซีพี ออลล์ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดบริการ "trueselect" เมื่อปี 2554
ปีที่ผ่านมา จีเอส โฮมช้อปปิ้ง มียอดขายกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 90,000 ล้านบาท
"จีเอส ช้อป" เป็นสถานีทีวีให้บริการ 24 ชั่วโมง เป็นรายการสด 20 ชั่วโมง ทำให้สื่อสารข้อมูลโต้ตอบกับลูกค้าที่ โทร.มาแบบเรียลไทม์ มีพนักงานคอลเซ็นเตอร์กว่า 1,000 คน สถิติพบว่าแต่ละวันมีโทรศัพท์เข้า 1.3 แสนครั้ง 60% เป็นการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบอัตโนมัติ 20% สั่งซื้อสินค้าผ่านคอลเซ็นเตอร์ และ 20% โทร.มาสอบถามข้อมูลช่องทางการขายสินค้าของ "จีเอส ช้อป" จะครอบคลุมทั้งทีวี, อินเทอร์เน็ต, โมบายแอป และแค็ตตาล็อก
มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า กลุ่ม "เสื้อผ้าแฟชั่น" เป็นสินค้ายอดนิยม แต่มียอดคืนสูงถึง 50% เพราะลูกค้ามักมีปัญหาเรื่องไซซ์ที่ไม่พอดีกับรูปร่าง หรือสีที่เห็นของจริงแล้วไม่ถูกใจ แต่เพราะระบบการคืนสินค้าหรือคืนเงินของบริษัทที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ลูกค้ามั่นใจที่จะสั่งซื้อ ถ้ามีปัญหาก็สามารถคืนหรือเปลี่ยนได้โดยสะดวก
สิ่งสำคัญของธุรกิจเพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า คือระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบแบ็กออฟฟิศที่ต้องพร้อม ไม่ว่าจะเป็นระบบคอลเซ็นเตอร์ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลลูกค้า เมื่อลูกค้าโทร.เข้ามา พนักงานคอลเซ็นเตอร์จะรู้ข้อมูลส่วนตัวและประวัติการซื้อสินค้าของลูกค้าได้ทันที รวมทั้งระบบการชำระเงิน การส่งสินค้า การคืนสินค้าที่จะต้องมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทีวีโฮมช็อปปิ้งเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ "CJO Shopping" ยักษ์ใหญ่อีกรายของเกาหลี ที่เริ่มธุรกิจนี้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับจีเอสฯ และเป็นอีกรายที่ได้เข้ามาลงทุนในไทย ในการร่วมทุนกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2554 ในบริการผ่านช่องทีวีดาวเทียมในชื่อ "O Shopping"
มีเครือข่ายธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจอาหารและบริการด้านอาหาร ธุรกิจยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจโฮมช็อปปิ้งและขนส่งครบวงจร และธุรกิจสื่อและบันเทิงครบวงจร นอกจากการขายสินค้าผ่านทีวีโฮมช็อปปิ้ง ซีเจโอฯก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางการขายผ่านแอปมือถือค่อนข้างมาก ทำให้ยอดขายในปีที่ผ่านมาเป็นการขายผ่านมือถือถึง 25%
นี่คือจุดเปลี่ยนธุรกิจ "ทีวีโฮมช็อปปิ้ง" ในเมืองไทย เมื่อ "กสท." จะเข้ามาจัดระเบียบในการออกใบอนุญาต ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นชอบกับนโยบายดังกล่าว ด้วยหวังว่าจะช่วยยกระดับมาตรฐานบริการของผู้ประกอบการ เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคยอมรับและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ เช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จในเกาหลี
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์