​SCBตั้งรับกฎหมายค้ำประกัน จัดทีมเฉพาะกิจ-ปรับวิธีทำงาน

แบงก์ไทยพาณิชย์ตั้งทีมเฉพาะกิจ รับมือ พ.ร.บ.ค้ำประกันที่ออกมาใหม่ หวั่นปั่นป่วนทั้งกระบวนการ-วิธีการปล่อยกู้ แถมต้องเปลี่ยนเอกสารใหม่อื้อ ชี้ธุรกิจเอสเอ็มอี-เช่าซื้อรถ ได้รับผลกระทบมากสุด พร้อมชูปี"58 ปักธงบุกธุรกิจเอสเอ็มอี-รายใหญ่เต็มสูบ เชื่อแบงก์ปรับตัวได้ในที่สุด



    แบงก์ไทยพาณิชย์ตั้งทีมเฉพาะกิจ รับมือ พ.ร.บ.ค้ำประกันที่ออกมาใหม่ หวั่นปั่นป่วนทั้งกระบวนการ-วิธีการปล่อยกู้ แถมต้องเปลี่ยนเอกสารใหม่อื้อ ชี้ธุรกิจเอสเอ็มอี-เช่าซื้อรถ ได้รับผลกระทบมากสุด พร้อมชูปี"58 ปักธงบุกธุรกิจเอสเอ็มอี-รายใหญ่เต็มสูบ เชื่อแบงก์ปรับตัวได้ในที่สุด

    นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยถึงผลกระทบจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ว่าด้วยการค้ำประกัน และจำนอง ว่าได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของธนาคารค่อนข้างมาก ทั้งการขยายสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เอสเอ็มอี และรายย่อยโดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากต้องอาศัยการค้ำประกันโดยตัวบุคคล 

    ดังนั้น ธนาคารจึงได้ตั้งทีมงานใหม่ซึ่งเป็นทีมงานเฉพาะกิจเข้ามาดูแลเรื่องผลกระทบในเชิงลึกโดยเฉพาะ ซึ่งคาดว่าวิธีการน่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ทันที่ พ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ก.พ.นี้

    "แบงก์คงปั่นป่วนกันมาก เพราะต้องปรับตั้งแต่เรื่องเอกสาร กระบวนการทำงาน และวิธีการปล่อยสินเชื่อ เช่น การขอสินเชื่อหมุนเวียนก็ยุ่งยากขึ้น เพราะ 2-3 เดือนก็ต้องนำทรัพย์สินมาตึ๊งใหม่ ทำสัญญาใหม่ แบบนี้คนทำธุรกิจวุ่นวาย แถมคนค้ำประกันต้องเป็นคนละคนกับคนกู้ด้วย แล้วถ้าธุรกิจมีปัญหาคนค้ำประกันไม่มาเซ็นยินยอม แบงก์ก็ช่วยเหลือลำบาก ปรับโครงสร้างหนี้ก็ยาก เอ็นพีแอลก็คงเพิ่มขึ้น ไม่พ้นที่แบงก์จะต้องฟ้องร้องกันเร็วขึ้น ต้นทุนแบงก์ก็เพิ่มขึ้นมาก" นางกรรณิกากล่าว

    อย่างไรก็ตาม นางกรรณิกาเชื่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้ธนาคารทุกแห่งสามารถปรับตัวได้ และคงไม่ถึงขั้นต้องทำให้ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหรือกระทบต่อการขยายสินเชื่อของธนาคารแต่อย่างใดเพราะเชื่อว่าในที่สุดธนาคารจะสามารถหาวิธีการในการขยายธุรกิจให้ได้และรัดกุมที่สุด 

    สำหรับทิศทางการปล่อยสินเชื่อในปี 2558 นางกรรณิกา กล่าวว่า ธนาคารเตรียมขยายสินเชื่อในปีนี้อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 5-7% ภายใต้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3-3.5% หลังจากในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ชะลอแผนการขยายตัวของสินเชื่อลง

    "ต้องเริ่มขยับตัวแล้ว เพราะเราชะลอการเติบโตมาตั้ง 12 เดือน เพราะมองว่าเอ็นพีแอล (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) จะมาแน่นอน แต่ตอนนี้ทุกอย่างทั้งเศรษฐกิจ ธุรกิจ และภาพของเอ็นพีแอลก็เริ่มเห็นทางออกที่ชัดเจนขึ้นแล้ว โดยสินเชื่อที่มองว่าน่าจะเติบโตได้ดีในปีนี้มองว่าจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อรายย่อยน่าจะช้าหน่อย เพราะหนี้ครัวเรือนสูง สถานการณ์เช่าซื้อก็ยังไม่ได้ดีมากนัก สินเชื่อบ้านก็คงไม่ได้เติบโตมากนัก" นางกรรณิกากล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS