กฤษฎีกา เร่งแก้ปม พ.ร.บ.คุ้มผู้ค้ำ-จำนอง ยอมรับมีจุดอ่อนเร่งระดมผู้เชี่ยวชาญปรับปรุงพร้อมชงเข้า สนช.พิจารณาให้ กม.มีผลทันบังคับใช้ตามกำหนดเดิม กรรมการพัฒนากฎหมายแจงปัดตก 2 ข้อเสนอสมาคมแบงก์ ธปท.รับหน้าชี้แจงข้อเรียกร้อง ฟากธนาคารพาณิชย์ทำใจปรับตัวรับสภาพ
กฤษฎีกา เร่งแก้ปม พ.ร.บ.คุ้มผู้ค้ำ-จำนอง ยอมรับมีจุดอ่อนเร่งระดมผู้เชี่ยวชาญปรับปรุงพร้อมชงเข้า สนช.พิจารณาให้ กม.มีผลทันบังคับใช้ตามกำหนดเดิม กรรมการพัฒนากฎหมายแจงปัดตก 2 ข้อเสนอสมาคมแบงก์ ธปท.รับหน้าชี้แจงข้อเรียกร้อง ฟากธนาคารพาณิชย์ทำใจปรับตัวรับสภาพ
นายนิพนธ์ พัวพงศกร กรรมการในคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ล่าสุดวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ว่าด้วยหมวดค้ำประกันและจำนองหนี้ ได้ข้อสรุปว่าจะขอแก้ไขในจุดอ่อนที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้และสามารถคุ้มครองประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ค้ำ ประกันและผู้จำนองได้เร็วที่สุด
"การเลื่อนบังคับใช้กฎหมายคงไม่ เลื่อน แต่จะต้องมีนำร่างเดิมที่เคยเสนอเข้า สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) แต่แรกเริ่มมาปรับปรุงใน 2 วรรคสำคัญ ที่ถูกตัดไประหว่างชั้นกรรมาธิการ"
ทั้งนี้ ประเด็นใน 2 วรรคดังกล่าว เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจของกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ในสภาพความจริงเอสเอ็มอีที่ขอสินเชื่อเจ้าของกิจการมักเป็นผู้ค้ำประกัน หนี้ด้วย จะแก้ไขเพิ่มเติมให้ความรับผิดชอบมีผลครอบคลุม หรือในประเด็นบริษัทแม่ค้ำประกันให้บริษัทลูก หรือการที่แบงก์ออกเอกสารค้ำประกันการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของรัฐ เหล่านี้จะมีการปรับปรุงถ้อยคำให้ครอบคลุมมากขึ้น
ส่วนข้อเสนอของ สมาคมธนาคารไทยให้แก้ไขปรับปรุง 2 ประเด็นเรื่องกระบวนการแจ้งผู้ค้ำ สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ และการขอให้การขายหลักประกันจำนองผ่านกรมบังคับคดีทั้งหมดนั้น จะไม่มีการแก้ไขแล้ว และได้พูดคุยทำความเข้าใจในตัวบทกฎหมายกับสมาคมธนาคารไทยแล้ว
นาย เกริก วณิกกุล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และกรรมการในคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดความไม่เข้าใจในด้านกฎหมายที่แตกต่างหลายประเด็น ดังนั้น คณะกรรมการจึงเห็นว่าเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก็ควรแก้ไขกฎหมายฉบับนี้
โดยประเด็นที่แบงก์ ขอให้พิจารณา เช่น แบงก์เรียกร้องให้การขายทอดตลาดหลักประกันจำนองให้ผ่านกรมบังคับคดีทุก รายการนั้น คณะกรรมการเห็นว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความยินยอมของลูกหนี้ ที่จะตกลงในสัญญากับแบงก์ จึงไม่จำเป็นต้องระบุในกฎหมายให้ขายผ่านกรมบังคับคดี
"เรื่องการขาย สินทรัพย์จดจำนองทอดตลาด ที่ผ่านมาเกิดความเข้าใจผิดในการตีความกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าห้ามนำสินทรัพย์นี้ขายทอดตลาด แต่กฎหมายมีเจตนารมณ์มอบอำนาจให้ลูกหนี้ตัดสินใจ 100% หากลูกหนี้ยินยอมให้ขาย ก็สามารถขายได้ จะเป็นลูกหนี้ขายเอง หรือให้แบงก์ขายให้ก็ได้ แล้วถ้าลูกหนี้เซ็นยินยอมให้ขายตอนแรก แต่ไม่มายอมรับภายหลัง ก็ต้องเข้าสู่ระบบฟ้องร้องบังคับคดีอัตโนมัติ"
ด้าน นายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ก.พ. 2558 ธปท.ในฐานะกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์จึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนชี้แจงข้อเรียกร้อง ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเชิญให้สถาบันการเงิน นักวิชาการ และ ธปท.เข้าไปเสนอความคิดเห็น ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยว่า สามารถแก้ไขบางส่วนโดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายลูกมาแก้ไขฉบับเดิม และหากจำเป็นต้องเลื่อนการบังคับใช้ก็สามารถทำได้ โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขอยู่
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์