​สมาคมธนาคารไทยเสนอแก้กฎหมายหลักประกันเอื้อ SMEs ถึงแหล่งทุน

สมาคมธนาคารไทยเสนอแก้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เอื้อเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมเร่งกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มศักยภาพ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ



    สมาคมแบงก์ฯ เสนอแก้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เอื้อเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมเร่งกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มศักยภาพ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ

    นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้เสนอความคิดเห็นให้มีการแก้ไขกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อทำให้เกิดความคล่องตัว เพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ และทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

    นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมให้ง่ายขึ้น และลดการพึ่งพาการใช้กระดาษที่เป็นต้นทุนมหาศาล

    ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีศักยภาพหากสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่มากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

    "ที่ผ่านมาสถานะทางการเงินในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนที่มั่นคง และนับเป็นสายเลือดให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่จะเป็นผลดีขึ้นหากสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น แต่การพัฒนาในบางเรื่องต้องยอมรับว่าอาจไม่ทำให้เกิดการเติบโตมากนัก แต่จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาระบบการเงินและเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็ง และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ระดับกลางได้"

    อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจโดยรวมถืออยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น โดยเฉพาะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญองค์กรเอกชน 25 ราย เข้าพบและเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยนายกฯ ได้นั่งฟังและจดบันทึกความคิดเห็นด้วยตัวเองตลอด 2 ชั่วโมง นับเป็นเรื่องที่ดีต่อการนำข้อมูลไปพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

    "ท่านนายกฯ ไม่ได้มีข้อเสนอแนะอะไรกลับมา เพราะธนาคารพาณิชย์ถิอเป็นสายเลือดของระบบเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็ควรต้องดูแลการทำงานของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ เช่น ต้องไม่โปรโมตในสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น สินเชื่อบุคคล เนื่องจากผู้บริโภคมีภาระหนี้ต่อครัวเรือนอยู่ในระบบที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว" นายบุญทักษ์กล่าว  


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS