ศก.โงหัวไม่ขึ้นธปท.จ่อหั่นจีดีพี จี้รัฐคลอดแผนรับน้ำ-หวั่นนักลงทุนกระเจิง

ศก.โงหัวไม่ขึ้นธปท.จ่อหั่นจีดีพี จี้รัฐคลอดแผนรับน้ำ-หวั่นนักลงทุนกระเจิง

       นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าจะชะลอตัวลงทั้งภาคการผลิต และบริการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงและขยายวงกว้าง โดยจากการลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย เพื่อรับฟังความเห็นจาก ผู้ประกอบการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ต้องการความชัดเจนเรื่องแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เพื่อให้มั่นใจว่าปัญหาน้ำท่วมใหญ่จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มมองความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ถือเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ปีหน้าจึงถือเป็นโอกาสทองของรัฐบาลที่จะโชว์ศักยภาพบริหารจัดการ เพราะถ้ายังไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้มีโอกาสที่บางธุรกิจอาจย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่น

       ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมักใช้เวลาไม่นานนัก เนื่องจากผลกระทบต่ออุปทานมีเพียงชั่วคราว การฟื้นฟูซ่อมแซมช่วยให้อุปสงค์เร่งตัวขึ้น แต่การฟื้นตัว จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐ และการดำเนินงานของภาคเอกชน ซึ่งหากมีการประสานงานและวางแผนให้สอดคล้องกันจะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

       อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปที่คาดว่าจะติดลบเล็กน้อย หรืออาจจะไม่มีอัตราการเติบโต แต่หากเศรษฐกิจโลกมีปัญหามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจมีการทบทวนตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยอีกครั้ง จากเดิมคาดว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.8%

       ด้านพล.อ.ชัยณรงค์ หนุนภักดี ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมนวนครอยู่ระหว่างเสนอแผนป้องกันน้ำท่วม ให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) พิจารณา เพราะหากไจก้าเห็นชอบตามแผนแล้วจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจญี่ปุ่น เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 500-600 ล้านบาท ในการสร้างกำแพงคอนกรีตให้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางที่ 6.5 เมตร จากเดิมที่มีความสูงอยู่แล้ว 4.5 เมตร

       "ภายในเดือนม.ค.2555 จะเริ่มดำเนินการได้ และภายในเดือนมิ.ย.2555 คาดว่ากำแพงคอนกรีตจะสร้างเสร็จ เพื่อ ให้ทันฤดูฝนในปีหน้า โดยการก่อสร้างจะต่อเติมจากเขื่อนดินของเดิมเพิ่มอีก 2 เมตร ระยะทาง 20-22 กิโลเมตร" พล.อ.ชัยณรงค์กล่าว

       ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้พัฒนานิคมจะเก็บค่าบำรุงส่วนกลางเฉลี่ยเดือนละ 800-900 บาทต่อไร่ แต่หลังจากสร้างกำแพงคอนกรีตเสร็จแล้วจะเก็บค่าบำรุงส่วนกลางเพิ่มอีก 1,000-2,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน แต่อาจเลื่อนการเก็บอัตราใหม่ออกไปอีก 1 ปี เพราะไม่อยากซ้ำเติมโรงงาน

ที่มา : ข่าวสด

NEWS & TRENDS