​เมียนมาร์ขึ้นแท่นคู่แข่งไทย "จับตาอุตฯสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม"

เมียนมาร์ เป็นอีกประเทศที่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สำหรับผู้ประกอบการที่พยายามมองหาฐานการผลิตเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและรักษาความอยู่รอดของธุรกิจ



    เมียนมาร์ เป็นอีกประเทศที่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สำหรับผู้ประกอบการที่พยายามมองหาฐานการผลิตเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและรักษาความอยู่รอดของธุรกิจ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมียนมาร์มีความน่าสนใจในฐานะแหล่งลงทุนแหล่งใหม่ที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มอาเซียน จากการที่นักลงทุนไทยและต่างชาติ พยายามหาช่องทางเข้าไปทำการค้าการลงทุน เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพ และทิศทางพัฒนาการเชิงบวกของเมียนมาร์หลังเปิดประเทศ

    เดอะโกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ หนังสือพิมพ์ทางการของเมียนมาร์รายงานว่า ประเภทของสิ่งทอที่ได้รับความนิยมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ซึ่งปัจจุบันมีราคาที่สูงขึ้นมาก

    "4 ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุทำให้ราคาผ้าฝ้ายแพงขึ้นกว่าเมื่อก่อน ได้แก่ ระดับการผลิตที่ต่ำลง, ราคาของวัตถุดิบที่สูงขึ้น,ระบบการขนส่งคมนาคมที่ย่ำแย่ และขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ" นายหม่า ฟู อี๊ เต็ง ศิลปินสิ่งทอจากกลุ่มทานตะวันกล่าว

    นอกจากนี้ นายหม่ากล่าวถึงค่านิยมที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่สามารถสร้างกำไรสูงในเมียนมาร์ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปีก่อน แม้ราคาของผ้าฝ้ายจะมีราคาสูงขึ้น

    แต่ยอดการค้าที่ผ่านมาปรากฏชัดว่า ผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิมยังเป็นที่ต้องการ และคาดว่าจะเป็นที่นิยมของประชาชนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

    สำหรับ นายอู ถั่น ตัน (U Than Tun) เจ้าของธุรกิจที่มันฑะเลย์แสดงความคิดเห็นว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าราคาสิ่งทอแบบดั้งเดิมอาจมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการท้องถิ่นมีศักยภาพเพิ่มขึ้นนั่นเอง

    ยิ่งกว่านั้น ครูผู้สอนของโรงเรียนสอนทอผ้าของรัฐ เปิดเผยถึงจำนวนตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นของประชากรวัยหนุ่มสาวที่ให้ความสนใจวิชาการเรียนการสอนเกี่ยวกับการทอผ้าและการย้อมสีผ้า ขณะนี้รัฐบาลเมียนมาร์ได้อนุมัติให้เปิดโรงเรียนฝึกสอนการทอผ้าเพิ่มทั้งหมด 14 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนการฝึกวิชาชีพโดยเปิดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตร 6 เดือน หรือ 12 เดือน เพื่อมุ่งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรียนรู้การทอผ้า ย้อมผ้า รวมถึงการออกแบบสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผ้าฝ้าย โดยทางโรงเรียนพร้อมที่จะพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญให้มากขึ้น

    แต่ปัญหาที่เมียนมาร์ยังต้องเผชิญอยู่คือ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นและบุคคลอื่นๆ ที่สนใจ

    ขณะที่ นางฟู่ เอ่ย เต็ง หนึ่งในเจ้าของธุรกิจสิ่งทอในเมียนมาร์ เธอมองว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการจัดตั้งโรงเรียนเพิ่มทักษะการทอผ้าและย้อมสีผ้าแบบธรรมชาติ และควรเพิ่มแรงจูงใจต่อการเรียนการสอนด้วยการเปิดระดับปริญญาโท สำหรับวิชาชีพดังกล่าว เพื่อรับรองบุคลากรที่มีศักยภาพในการทำงานหลังเรียนจบ ซึ่งใบประกาศนียบัตรถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการสิ่งทอ เนื่องจากปัจจุบันคนที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการทอผ้าและย้อมสีผ้าแบบธรรมชาตินั้น มีเพียง 10 คนต่อ 1 บริษัทเท่านั้น

    นอกจากนี้ นางฟู่ยังเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเว้นภาษีสิ่งทอสำหรับกิจการขนาดเล็ก รวมถึงการรักษาคุณภาพและเสถียรภาพของราคาสินค้าให้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เนื่องจากราคาสิ่งทอที่ยังไม่ได้มาตรฐานนั้นมีส่วนทำให้ความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกด้อยลง รวมถึงอุปสรรคสำคัญอย่างการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศด้วย

    สำหรับคนท้องถิ่นในเมียนมาร์ เสื้อผ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศจะเป็นที่ดึงดูดใจได้มากกว่าเสื้อผ้าที่ผลิตในประเทศ แม้สินค้าสิ่งทอจากเมียนมาร์ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐ และเมื่อไม่นานมานี้ เกาหลีใต้เริ่มให้ความสนใจสินค้าสิ่งทอแบบดั้งเดิมของเมียนมาร์ แต่รัฐบาลก็พยายามผลักดันการบริโภคสินค้าภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าสินค้าของต่างประเทศ

    สิ่งที่น่าหนักใจสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย หากเมียนมาร์เพิ่มดีกรีความร้อนแรงภาคการผลิตและประสบความสำเร็จในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้ดีขึ้นได้ จะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าแรงที่ยังอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งอาจจะทำให้เมียนมาร์ก้าวเข้าสู่การเป็นคู่แข่งที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดทัดเทียมกับสินค้าไทย เฉกเช่นเวียดนามในระยะที่ผ่านมา งานนี้หากไทยยังนิ่งนอนใจไม่เร่งฝีมือฝีเท้าคงเจอทางตันในไม่ช้า

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS