สารพัดภาษีอุ้มพ่อค้า-ประชาชนเหยื่อน้ำท่วม

สารพัดภาษีอุ้มพ่อค้า-ประชาชนเหยื่อน้ำท่วม กรมสรรพากรเทกระจาด

        สรรพากร ชงเรื่องเข้า ครม. ออกมาตรการสารพภาษี บรรเทาผลกระทบให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อาทิ นำค่าซ่อมบ้านซ่อมรถ ยื่นหักภาษี เพิ่มหัก ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ด้านสศค.ลุ้น ครม.เคาะมาตราการอุ้มเอสเอ็มอี

        นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ธันวาคม 2554 กรมสรรพา กรเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยในส่วนของประชาชน จะเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการซ่อมบ้านและซ่อมรถ ซึ่งการซ่อมบ้านจะให้หักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งการซ่อมบ้านจะครอบคลุมถึงตัวบ้าน รั้ว เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการทำความสะอาดบ้านด้วย ส่วนกรณีการซ่อมลด จะให้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท โดยผู้ต้องการใช้สิทธิจะต้องขอหลักฐาน หรือเก็บหลักฐานการรับเงินจากช่างซ่อมรถและต้องมีบัตรประชาชนจากช่างซ่อมรถมาประกอบการขอลดหย่อนภาษีด้วย

        นอกจากนี้ จะมีการเสนอสิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมในแบบการยื่นภาษี ในกรณีการซ่อมบ้านและรถยนต์สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมด้วย โดยเบื้องต้นประเมินว่าหาก ครม. เห็นชอบ กรมสรรพากรจะเร่งดำเนินการออกแบบฟอร์มการยื่นภาษีดังกล่าวได้ในทันที

        ขณะที่ มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ จะเสนอ ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์การหักค่าเสื่อมราคาสำหรับการซื้อเครื่องจักรมาทดแทนเครื่องจักรที่ถูกน้ำท่วม จำนวน 125 % จากปกติที่ 100 % โดยจะเสนอ 2 แนวทางในการหักค่าเสื่อมราคาดังกล่าว 1. หักแบบปกติ คือ ในปีแรก จะให้หักในอัตรา 45% และที่เหลือให้ทยอยหักปีละ 20% รวมเป็นเวลา 5 ปี และ 2. หักแบบเร่งรัด คือในปีแรกจะให้หัก 77% และที่เหลือจะให้ทยอยหักปีละ 12% รวมเป็นเวลา 5 ปี

        "กรมสรรพากรประเมินว่าช่วงต้นปี อาจมีประชาชนยื่นแบบภาษีล่าช้าออกไปบ้าง เพราะต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการหักลดหย่อนภาษีการซ่อมบ้านและรถยนต์ออกมาก่อน" นายสาธิต กล่าว

        สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมในช่วงไตรมาส 1 ปี 2555 คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 272,000 ล้านบาท โดยใน 2 เดือนแรก (ต.ค.-พ.ย. 2554) สามารถจัดเก็บได้ 187,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของกรมฯ อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังมีบางธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้รายได้จากการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเข้ามาชดเชยรายได้ในส่วนที่เสียไป โดยเชื่อมั่นว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมจะกลับมาเป็นปกติในช่วงกลางปีงบประมาณ 2555

        นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมถึงเพื่อให้รองรับกับมาตราฐานบัญชีใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยได้มีการพิจารณาเรื่องสิทธิในการลดหย่อนภาษีใหม่ จากปัจจุบันสิทธิในการลดหย่อนภาษีอยู่ที่ 19 รายการ ซึ่งในการพิจารณาได้มีการศึกษารูปแบบจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลายรูปแบบ โดยในส่วนนี้คงมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และตัดสินใจ

        "กรมได้รับมอบนโยบายจากทางรัฐบาลว่า ให้มีการทบทวนเรื่องสิทธิในการลดหย่อนภาษี ซึ่งเราได้ศึกษาแนวทางจากหลายประเทศ เช่น บางประเทศก็มีการจัดกลุ่มสิทธิลดหย่อนภาษีประเภทเดียวกันเอาไว้ด้วยกันส่วนการหักลดหย่อนนั้นก็ให้มีการปรับขึ้นลงตามทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในส่วนนี้เราก็ได้มีการพิจารณาแต่ก็มีหลายรูปแบบ ก็อยู่ที่ ครม. จะเป็นผู้ตัดสินใจ โดยขณะนี้ได้มีการหารือกันว่า หากการปรับโครงสร้างภาษีในส่วนใดมีความชัดเจนก่อนก็จะเร่งทยอยออกมา คงไม่ออกเป็นแพคเก็จ เพราะคงใช้เวลานานเกินไป" นายสาธิต กล่าว

 

ที่มา : ข่าวสด

NEWS & TRENDS