ศธ.ยืนยันให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาทุกแห่งซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าแห่งทั่วประเทศและจะแบ่งประเภทการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็น ประเภทบุคคลธรรมดา และประเภทนิติบุคคล
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการรายความคืบหน้าการดำเนินการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วและยืนยันให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาทุกแห่งซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าแห่งทั่วประเทศและจะแบ่งประเภทการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็น ประเภทบุคคลธรรมดา และประเภทนิติบุคคล
ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาแล้วจะมีการพิจารณาลดหย่อนภาษีให้โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้แทนการยกเว้นภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 48(4) ที่ได้กำหนดให้มีการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งมาตรการลดหย่อนภาษีนี้จะทำให้ไม่ให้ขัดแย้งกับพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ
ทั้งนี้ การจัดเก็บและการลดหย่อนภาษีในอัตราเท่าไรนั้นทางกรมสรรพากรจะไปพิจารณาโดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนจะลดหย่อนได้กี่เท่าอาจจะสองเท่าหรือสามเท่าให้กับโรงเรียนกวดวิชาที่มีการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคม กิจกรรมเพื่อการกุศล หรือสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยในสัปดาห์หน้าสช.จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เสนอแนะว่าการแก้ปัญหากวดวิชาต้องแก้ที่ต้นตอโดยควรมีการพัฒนาการเรียนการสอนและจะมอบให้สช.ไปพิจารณาในภาพรวมของโรงเรียนกวดวิขาด้วยเพื่อแก้ปัญหาการกวดวิชา
ที่มา www.nationtv.tv