เครดิตบูโรกางแผนปี?58 ลุยหนัก เดินสายให้ความรู้วินัยทางการเงินคนทั่วประเทศ ดึงสมาชิกใหม่เข้าร่วม-ยกระดับการทำงานมาตรฐานสากล ชี้ปัญหาหนี้เน่าดีขึ้น ระบุต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สินเชื่อบุคคลน่าห่วงสุด ระบุกลุ่มเสี่ยงถูกเช็กข้อมูลถี่ยิบเดือนละครั้ง เพิ่มจากปีละ 1-2 ครั้ง
เครดิตบูโรกางแผนปี?58 ลุยหนัก เดินสายให้ความรู้วินัยทางการเงินคนทั่วประเทศ ดึงสมาชิกใหม่เข้าร่วม-ยกระดับการทำงานมาตรฐานสากล ชี้ปัญหาหนี้เน่าดีขึ้น ระบุต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สินเชื่อบุคคลน่าห่วงสุด ระบุกลุ่มเสี่ยงถูกเช็กข้อมูลถี่ยิบเดือนละครั้ง เพิ่มจากปีละ 1-2 ครั้ง
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เปิดเผยว่า แผนงานของเครดิตบูโรในปี 2558 จะเน้นกลยุทธ์ 7 ด้านประกอบด้วย ด้านแรก การเดินสายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการให้ความรู้เรื่องวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า160ครั้งและฝึกอบรมแก่สมาชิกเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องอีกไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง
ด้านที่ 2 กระตุ้นให้สมาชิกใช้ข้อมูลของเครดิตบูโรในการนำไปประกอบธุรกิจ และให้ประชาชนและนิติบุคคลเข้ามาตรวจเช็กข้อมูลทางเครดิตของตัวเองมากขึ้น เพื่อเกาะติดและเฝ้าระวังสถานการณ์หนี้เสียหรือหนี้ต่อครัวเรือนของประชาชนเอง
ด้านที่ 3 การขยายฐานสมาชิกใหม่เพิ่ม โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบข้อมูลลูกค้ากว่า 10 ล้านบัญชีทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งผ่านการทดสอบแล้วกว่า 70% คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ ขณะเดียวกัน ยังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชักจูงสหกรณ์ออมทรัพย์ให้เข้ามาเป็นสมาชิก โดยปัจจุบันเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว 5 ราย ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ ธปท. สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรฯ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น สหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสหกรณ์ออมทรัพย์ในจังหวัดปัตตานี และอยู่ระหว่างการเจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์รายอื่นอีก 15 ราย ซึ่งในปีนี้จะหากลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 100 ราย และตั้งเป้าการเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก 20 ราย จากสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีกว่า 1,000 ราย
ด้านที่ 4 การยกระดับมาตรฐานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ซึ่งประเมินโดยธนาคารโลก ในหัวข้อประสิทธิภาพการเข้าถึงสินเชื่ออยู่ในอันดับที่ดีขึ้น โดยใช้มาเลเซียเป็นตัวตั้ง
ด้านที่ 5 การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการรับและการส่งข้อมูล ด้านที่ 6 การรักษามาตรฐานระบบความปลอดภัยตาม ISO/IEC27001:2013 และด้านสุดท้าย การจัดเตรียมระบบไอทีให้รองรับการเรียกดูข้อมูลให้ได้มากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่า เพิ่มเป็น 2.5-3 เท่า รวมถึงจะเพิ่มฐานข้อมูลสำรองไปยังต่างจังหวัดอีก 1 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 มีสมาชิกเข้ามาเรียกดูข้อมูลเครดิตประมาณ 35 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นถึง 20.7% จากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 29 ล้านรายการ จากฐานสมาชิกสถาบันการเงินทั้ง 80 แห่ง เนื่องจากสถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. 2556 เริ่มเห็นการเข้ามาขอตรวจเช็กข้อมูลเครดิตลูกค้าถี่ขึ้นจากปีละ 1-2 ครั้ง เพิ่มเป็นไตรมาสละ 1 ครั้ง
"ขณะที่กลุ่มเสี่ยงเพิ่มความถี่เป็นเดือนละ 1 ครั้ง และคาดว่าจะยังเห็นภาพการเข้ามาตรวจเช็กข้อมูลของลูกค้าถี่ขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยสินเชื่อที่สถาบันการเงินมีความเป็นกังวลมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อที่อยู่อาศัย" นายสุรพลกล่าว
สำหรับแนวโน้มการเกิดหนี้เสียในปี 2558 นายสุรพลคาดว่ายังคงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก แต่อัตราการเร่งน่าจะชะลอตัวลง โดยในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการเมือง และการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจในประเทศ อัตราการเร่งตัวขึ้นของหนี้เสียเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสสูงถึง 15% แต่ปัจจุบันเริ่มปรับลดลงเหลืออยู่ในระดับต่ำกว่า 10% แล้ว และคาดว่าแนวโน้มก็น่าจะปรับตัวลดลงในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นมากพอที่จะทำให้รายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้นหรือไม่และประชาชนเองสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของตัวเองลงได้มากน้อยเพียงใด
"ดูแนวโน้มเศรษฐกิจแล้วเราสบายใจขึ้นว่าสถานการณ์หนี้เสียน่าจะคลี่คลายลงบ้างหลังจากช่วง2-3ไตรมาสแรกของปี 2557 ที่หนี้เสียวิ่งเร็วมาก ขณะที่ทั้งสถาบันการเงินและประชาชนเองก็ระมัดระวังตัวกันมากขึ้น ทำให้การเข้ามาขอสินเชื่อน่าจะเป็นการขอจากผู้ที่มีความต้องการจริง และมีความพร้อมมากพอสมควร" นายสุรพลกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ