​หอการค้าไทยเตรียมถก ธปท.หามาตรการดูแลค่าเงินผันผวน

หอการค้าไทยเตรียมถก ธปท.หามาตรการดูแลค่าเงินผันผวน ชี้อัตราแลกเปลี่ยน-สิทธิจีเอสพีและราคาน้ำมันเป็น 3 ปัจจัยเสี่ยงด้านส่งออกไทย



    หอการค้าไทยเตรียมถก ธปท.หามาตรการดูแลค่าเงินผันผวน ชี้อัตราแลกเปลี่ยน-สิทธิจีเอสพีและราคาน้ำมันเป็น 3 ปัจจัยเสี่ยงด้านส่งออกไทย
    
    นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยเตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหามาตรการหรือเครื่องมือในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป รวมทั้งดูผลกระทบในด้านอื่นที่ไม่ใช่แค่ภาคการส่งออก เพราะยังมีทั้งในส่วนของเงินกู้และพันธบัตร (บอนด์) โดยเฉพาะในส่วนของเงินกู้สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    เชื่อว่า ธปท.มีเครื่องมือในการดูแลอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนส่งออกเป็นกลุ่มเรียลเซ็กเตอร์ จึงรู้ข้อมูลและกระทบก่อนภาครัฐ จึงอยากส่งสัญญาณมาให้ไม่เช่นนั้นจะช้าไป เพราะอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเร็วมาก ซึ่งหากเห็นตรงกันก็น่าจะทำอะไรเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นได้นายอิสระ กล่าว

    นอกจากนี้ อาจจะมีการหารือร่วมกันกับ ธปท. ว่าอุตสาหกรรมภาคส่วนใดบ้างที่ได้รับผลกระทบมากน้อย รวมทั้งจะหารือเกี่ยวกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามชายแดน เพราะหากสามารถใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่งได้ก็จะทำให้การค้าตามชายแดนคล่องตัวขึ้น เนื่องจากระบบธนาคารของประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สะดวกนัก

    นายอิสระ กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการส่งออกกังวลมาก เพราะค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยในปี 2557 ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าอยู่ที่ 0.49% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียอยู่ที่ 6.28% อินโดนีเซียอยู่ 2.22% สิงคโปร์อยู่ที่ 4.41% พม่าอยู่ที่ 6.28% เกาหลีใต้อยู่ที่ 4.23% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 11.86% สหภาพยุโรป (อียู) อยู่ที่ 13.07% รัสเซียอยู่ที่ 43.33% และบราซิลอยู่ที่ 11.19% ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศทั้งในส่วนของการนำเข้าและส่งออก

    ขณะเดียวกันผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากการส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป (อียู) 86 รายการนั้น แม้ว่าจะยังไม่กระทบทันที เพราะยังมีสินค้าบางรายการที่สามารถเจรจาขอเว้นภาษีได้ในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้าไปเพื่อไปเพิ่มมูลค่า ดังนั้นจึงอยากผลักดันให้รัฐบาลเร่งเปิดเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (เอฟทีเอไทย-อียู) เพื่อทดแทนสิทธิจีเอสพีที่หายไป

    นอกจากนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงนั้น แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นข่าวดีของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอย่างไทย แต่ก็คงต้องใช้เวลาในการปรับตัวเรื่องค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ไม่สามารถปรับลดได้ทันที ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดรัสเซีย ทั้งๆ ที่ตั้งเป้าไว้ว่ารัสเซียเป็นโอกาสของตลาดการส่งออกสินค้าไทย รวมทั้งยังอาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน หรือคิดเป็น 10% ของเงินรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

    นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการและโฆษกหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยอยากส่งสัญญาณว่าทุกคนต้องระวังและติดตาม เพราะจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และไม่ใช่แค่ติดตามและนั่งรอชะตากรรมอย่างเดียว แต่เป็นช่วงที่ดีในการกวาดบ้านเพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้นดีขึ้นก็จะทำให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

    ทั้งนี้อยากเสนอให้มีการพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้า เพื่อให้ธุรกิจแข็งแรงและปกป้องธุรกิจตัวเอง เพราะต่อไปการค้าโลกจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอียูและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ควรจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาเพิ่มมูลค่าเพิ่มทั้งห่วงโซ่ พัฒนาแบรนด์สินค้าให้ดีขึ้นและพัฒนาการวิจัยและพัฒนาเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสินค้า เพื่อให้แข่งขันได้

    อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยในปี2558 น่าจะขยายตัวได้ที่ 3-4% เช่นเดียวกับการขยายตัวการส่งออก เนื่องจากเงินอัดฉีดในการลงทุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะเริ่มทยอยออกมา

ที่มา โพสต์ทูเดย์

NEWS & TRENDS