​คลังดึงเอกชนร่วมเป็นกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษี

ขุนคลังนั่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ดึงเอกชนร่วมเป็นกรรมการ ตั้งเป้าทำเสร็จภายใน 9 เดือน "กิตติพงศ์" เผยภาษีตลาดทุนจะเสนอผ่านคณะกรรมการชุดนี้ด้วย



    ขุนคลังนั่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ดึงเอกชนร่วมเป็นกรรมการ ตั้งเป้าทำเสร็จภายใน 9 เดือน "กิตติพงศ์" เผยภาษีตลาดทุนจะเสนอผ่านคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

    นายกิตติพงศ์ อุระพีพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ได้เข้าพบนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เพื่อหารือเรื่องการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งจะต้องมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบด้วย เนื่องจากถือเป็นคณะกรรมการระดับชาติ 

    "ตอนนี้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดย รมว.คลังเป็นประธาน ซึ่งจะมีภาคเอกชน มีนักวิชาการเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อให้รอบด้าน ไม่ใช่ราชการทำกันเองอย่างเดียว" นายกิตติพงศ์กล่าว

    นายกิตติพงศ์กล่าวว่า คณะกรรมการ ชุดนี้จะพิจารณาการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภาษีทรัพย์สิน ซึ่งจะรวมไปถึงการปฏิรูปภาษีตลาดทุนด้วย

    "วางกรอบการทำงานไว้ว่า ภายใน 9 เดือนนับจากนี้จะต้องเสร็จทั้งหมด อย่างไรก็ดี แต่ละเรื่องก็จะทยอยออกไปเรื่อย ๆอะไรที่ออกได้ก็ออกคือจะดูทั้งหมด ทั้งภาษีที่มีอยู่ก็เอามาดูที่กำลังเสนอ อย่างภาษีทรัพย์สินก็เอามาดู แล้วก็ร่างกฎหมายสรรพสามิตก็จะเอามาเข้าคณะกรรมการชุดนี้ดู ถ้าเห็นด้วยก็เสนอ ครม." นายกิตติพงศ์กล่าว

    ก่อนหน้านี้ รมว.คลังระบุว่า จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีขึ้น ตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในอนาคต

    โดยนายสมหมายกล่าวว่า การปฏิรูปภาษีจะทำให้เสร็จภายใน ก.ย. 2558 และไปเห็นผลทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2559 อย่างกรณีมาตรการลดหย่อนภาษีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก็จะทำให้ชัดเจนภายในไม่เกินเดือน มี.ค.นี้ ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อเสนอผ่านแล้ว จะไปมีผลกระทบทำให้รายได้เพิ่มขึ้นหลังจากปี 2559 ไปแล้ว

    "การปฏิรูปภาษี จะไม่ใช่แค่การลดหรือเพิ่มอัตราภาษี แต่จะมีการอุดรูรั่วต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ด้วย และทั้งหมดต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2558" นายสมหมายกล่าว

    นายสมหมายกล่าวว่า บางมาตรการที่เป็นการลดภาษี อย่างเช่นมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) นั้น เจ้าหน้าที่มองว่ารายได้จะหายไปราว 2.7 หมื่นล้านบาท แต่ตนมองว่ารายได้ดังกล่าวจะไม่มีเลย หากไม่มีมาตรการจูงใจ เพราะผู้ประกอบการจะไม่เข้ามาแน่นอน ดังนั้น ต้องมองว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่ม 2.7 หมื่นล้านบาทจึงจะถูกต้อง    

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามโรดแมปการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังนั้น ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่ต้องผลักดันในระยะข้างหน้านี้ อาทิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, การปรับปรุงกฎหมายสรรพสามิตทั้งระบบ, การเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อย่างกรณีชาเขียว เป็นต้น, การเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีมลพิษทางน้ำ, การตัดสินใจมาตรการลดหย่อนภาษี LTF, การลดภาษีนิติบุคคลให้เหลือ 20% เป็นการถาวร, การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา และการพิจารณาค่าลดหย่อนต่าง ๆ ให้เหมาะสม รวมถึงการพิจารณาภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

NEWS & TRENDS