ธปท.งัดยุทธศาสตร์เชิงรุกดูแลแบงก์

คงเคยเห็นกันแล้วว่า แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2555-2559) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ที่เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และมีบทบาทสำคัญทั้งในวงการเศรษฐกิจและการเงิน




    คงเคยเห็นกันแล้วว่า แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2555-2559) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ที่เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และมีบทบาทสำคัญทั้งในวงการเศรษฐกิจและการเงิน 

    ปีนี้ยังเป็นอีกก้าวที่ "ท้าทาย" ของ ธปท. เพราะมีอีกหลายด้านผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินต้องต่อยอด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงินไทย

    โดยสิ่งสำคัญที่ ธปท.จะต้องจัดทำควบคู่เพิ่มไปอีก นอกจากด้านการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ตามแผนที่ ธปท.ทำมาทุกปีแล้ว "ทองอุไร ลิ้มปิติ" รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. บอกว่า ปีนี้จะต้องเดินหน้าด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และการพัฒนาระบบชำระเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงินในอนาคต

    ธปท.ยังเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการเงินต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวทางการตรวจสอบสถาบันการเงินที่มุ่งเน้นเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงินควบคู่ไปกับการดูแลผู้บริโภค เช่น ตรวจสอบแบบเน้นธุรกรรมที่สำคัญ (Significant Activities : SA) รายสถาบันการเงิน หรือธุรกรรมที่มีผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินหรือเศรษฐกิจ เช่น การติดตามการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต หลังหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางการแก้ไขหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

    โดย ธปท.มองเรื่องภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ว่า ยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอีกในไตรมาสแรกนี้ต่อเนื่องหลังจากไตรมาส 3/57 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.34% ซึ่งกลุ่มที่หนี้เสียขยับขึ้นอย่างชัดเจน คือเอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ณ ไตรมาส 3/57 ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.65% จากสิ้นปีུ อยู่ที่ 2.20% (ดูตาราง) เมื่อดูไส้ในจะเห็นเอ็นพีแอลของสินเชื่อการใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มสูงสุดประมาณ 0.84% ของสินเชื่อรวม ตามด้วยเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์ 0.41% ของสินเชื่อรวม และเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 0.25% 

    อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่า หากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ก็หวังว่ายอดเอ็นพีแอลจะ "นิ่ง" ได้บ้าง พร้อมทั้งยืนยันว่า ธปท.มีการติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องด้วย ขณะที่ด้านธนาคารพาณิชย์ก็มีการตั้งการ์ดรับสูง ทั้งการอัดเงินตั้งสำรองไว้รองรับปัญหาหนี้เสียที่ยังต้องรับมืออยู่ ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดสิ้น พ.ย. 57 อยู่ที่ 17% จากสิ้นปีུ อยู่ที่ 15.7% 

    สำหรับทิศทางการปล่อยสินเชื่อของ ธปท.นั้น "ทองอุไร" ยังเชื่อว่า ภายใต้เศรษฐกิจเติบโตในปีนี้น่าจะหนุนให้ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อขยายตัว 7% จากปีที่ผ่านมาน่าจะเติบโต 5% แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่โตเฉลี่ยที่ 5-9% ส่วนสินเชื่อรายเล็กโตเฉลี่ยที่ 10% 

    "ปีนี้สินเชื่อที่จะเติบโตได้ดีคือ สินเชื่อธุรกิจ หมวดก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ส่วนสินเชื่อการเพื่อการบริโภคก็เริ่มชะลอลง หลังแบงก์เริ่มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น" 

    พร้อมกันนี้ ธปท.ยังได้วางเป้าหมายผลักดันให้ "ธนาคารพาณิชย์" มุ่งไปสู่"Digital Banking Service" มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนและยังสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้มีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากปริมาณธุรกรรมของบริการอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับ Digital Banking มากขึ้น

    อีกบทบาทของ ธปท.ที่จะมีมากขึ้น "ทองอุไร" บอกว่า การต้องเข้าไปกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐด้วย ซึ่งตามหลักการการกำกับดูแลแบงก์รัฐจะสอดคล้องกับแนวทางที่แบงก์รัฐปฏิบัติอยู่ แต่ก็จะต้องมีการปรับด้านรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากขึ้น และสอดคล้องกับความเสี่ยงของแต่ละแบงก์ด้วย

    "ยอมรับว่าแบงก์รัฐบางแบงก์ BIS บางแบงก์ก็ยังไม่ถึงระดับที่ ธปท.อยากให้เป็น เช่น แบงก์ที่มีปัญหาตอนนี้คือ ธพว. และไอแบงก์ ซึ่งบางเกณฑ์ก็ต้องให้เวลาเขาปรับตัว เหมือนตอนเราประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ใช้เกณฑ์นี้ใหม่ ๆ ก็ให้เวลาถึง 5 งวด ในการปรับไปสู่เกณฑ์ที่วางไว้"

    ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการดูแลคือ การเข้าไปตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ให้บริการ การติดตามตรวจสอบผลดำเนินงาน การสั่งการให้แก้ปัญหา และการออกเกณฑ์การดูแล โดยในเบื้องต้น ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาเกณฑ์กำกับ ซึ่งบางด้านก็สามารถออกประกาศได้เร็ว เพราะใช้เกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์ เช่น BIS ที่ตามเกณฑ์อยู่ที่ 8.5%

    ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพันธกิจที่ ธปท.จะต้องเดินหน้าทำต่อเนื่อง เพื่อเดินหน้าสร้างเสถียรภาพควบคู่ไปกับงานพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามแผนงานที่วางไว้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS