นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ (3E) ในการพัฒนาหลักสูตร “การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ (3E) ในการพัฒนาหลักสูตร “การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA)” เพื่อใช้ในการฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฉลากเขียว และฉลากคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ ซึ่งขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่อสินค้าที่ได้รับฉลากข้างต้น เพราะมีส่วนในการป้องกันสิ่งแวดล้อมของโลก และหากสินค้าได้รับการติดฉลาก ก็จะสร้างความมั่นใจให้คู่ค้า และส่งผลให้สินค้าได้รับความนิยมและจำหน่ายได้มากขึ้น
กรมฯ จะเน้นการช่วยเหลือ SMEs ให้มีความรู้ในการวางแผน ออกแบบ และพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยให้มีความรู้และความเข้าใจในการวิเคราะห์คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งช่วยให้มีทักษะในการประเมิน LCA และสามารถลดค่าใช้จ่ายในด้านการจ้างที่ปรึกษามาช่วยดำเนินการรับรองการติดฉลากคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ (Carbon Footprint of Product : CFP)
“หลักสูตรที่กรมฯ ร่วมกับหน่วยงาน 3E นี้ จะเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับ LCA และ CFP ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรได้รับการรองรับจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (TGO) (องค์การมหาชน) โดยการเข้ารับการฝึกอบรมจะมีค่าใช้จ่ายถูกว่าเพียงแค่ 2,000 บาทต่อราย ขณะที่การฝึกอบรมกับหน่วยงานอื่น จะมีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 12,000 บาท ซึ่งการดำเนินการ ก็เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และนำไปใช้เป็นแต้มต่อในการผลิตสินค้าและบริการสู่ตลาดโลก เพื่อสร้างการยอมรับให้กับสินค้าและบริการต่อไป”นางดวงพรกล่าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ มีแผนที่จะลงพื้นที่ไปช่วยพัฒนา SMEs ให้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับการป้องกันสิ่งแวดล้อม โดยเบื้องต้นจะไปยังภาคใต้ มีเป้าหมายฝึกอบรมผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าประมง อาหารทะเล ไม้ยาง และภาคบริการต่างๆ จำนวน 40 ราย ซึ่งกำหนดการฝึกอบรมไว้วันที่ 24-26 ก.พ.2558 และจากนั้นจะพิจารณาไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อช่วยเหลือให้ SMEs มีการเข้าใจในการพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น หากผู้ประกอบการรายใด มีสินค้าและบริการที่ผลิตและได้รับการติดฉลากเขียว และฉลากคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ ก็จะได้รับการยอมรับ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้รับฉลากได้มากขึ้น แต่ SMEs ของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก ยังไม่สามารถเข้าถึงการรับรองให้ติดฉลากได้ เนื่องจากงบประมาณในการดำเนินการสร้างบุคลากรให้มีทักษะความรู้ในการประเมินคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ยังคงมีข้อจำกัด ซึ่งการดำเนินการของกรมฯ จะช่วยแก้ไขปัญหาให้ SMEs ให้สามารถรับมือกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ