นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.อยู่ระหว่างกำลังหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 6 (พีจีเอส 6) เนื่องจากพีจีเอส 5 วงเงินค้ำประกัน 2.4 แสนล้าน..
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.อยู่ระหว่างกำลังหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 6 (พีจีเอส 6) เนื่องจากพีจีเอส 5 วงเงินค้ำประกัน 2.4 แสนล้านบาทจะหมดอายุดำเนินการ 3 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้ โดยบสย.ต้องการเสนอพีจีเอส 6 เข้าสู่ครม.ช้าสุดไม่เกินช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้โครงการค้ำประกันสินเชื่อของเอสเอ็มอีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเริ่มโครงการได้ทันที 1 มกราคม 2559
ทั้งนี้ในเบื้องต้น บสย.เสนอให้ทำโครงการพีจีเอส 6 ในวงเงินค้ำประกัน 2.4 แสนล้านบาท ในระยะเวลาดำเนินการโครงการ 3 ปี คือปี 2559-2561 มีเป้าหมายค้ำประกันปีละ 8 หมื่นล้านบาท โดยในการดำเนินการดังกลาวต้องเสนอขอครม.ในการกันวงเงินเพื่อชดเชยค่าเสีย 13,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขอวงเงินไว้ก่อน ถ้าไม่เกินความเสียหายก็ไม่ต้องใช้เงินรัฐในการชดเชย
สำหรับการดำเนินการพีจีเอส 5 ที่ได้รับวงเงินค้ำประกันมา 2.4 แสนล้านบาทนั้นล่าสุดมีการค้ำประกันไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และในปี 2558 นี้คาดว่าจะสามารถค้ำประกันได้ไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพราะเพิ่งเริ่มโครงการได้เพียง 2 ปี จากระยะเวลาการค้ำประกัน 7 ปี
นายวัลลภ กล่าวว่า ในปีนี้ 2559 บสย.ตั้งเป้ายอดค้ำประกัน 80,000 ล้านบาท โดยจะเจาะกลุ่ม ไมโครเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมีไมโครเอสเอ็มอีกว่า 1.79 ล้านรายที่ยังต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องการเงินกู้ในวงเงินไม่เกินรายละ 2 แสนบาท โดยบสย.มีวงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท สำหรับไมโครเอสเอ็มอี และคาดว่าจะสามารถช่วยเอสเอ็มอีได้กว่า 17,000 ราย ส่วนการดูแลกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง และขนาดเล็กนั้นขณะนี้ยังมีวงเงินเหลืออีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บสย.อยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการนวัตกรรมและเทคโนโลยี วงเงิน 2,000 ล้านบาท และโครงการสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา และนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป
“แผนงานปีนี้ จะมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ตอบสนองนโยบายของรัฐ ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยสู่ดิจิทัล อีโคโนมี หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ลดช่องว่างเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับกลุ่มไมโคร เอสเอ็มอี และร่วมกับสถาบันการเงิน แบงก์ เพื่อปลดล็อก ข้อจำกัดกฎหมายค้ำประกัน โดยคาดว่าในปี 2558 นี้จะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท โดยเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่ำ แต่ที่ผ่านมาทำได้สูงกว่าเป้าหมายพอสมควร ”นายวัลลภ กล่าว
ทั้งนี้ในปี 2557 ที่ผ่านมา บสย.มีกำไรสุทธิ 545 ล้านบาทเท่ากับปี 2556 ที่ผ่านมา โดยมียอดอนุมัติสะสม 391,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 330,436 ล้านบาท และคาดว่าจะแตะ 400,000 ล้านบาทภายใน 2 ปี ส่วนภาระค้ำประกันปี 2557 อยู่ที่ 269,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่อยู่ในระดับ 243,626 ล้านบาท โดในปี 2557 มียอดอนุมัติค้ำประกันอยู่ที่ 61,051 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 ที่ 87,080 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ลดลงจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ถดถอย การค้ำประกันจึงน้อยลง
"ถ้าไม่มี บสย.ในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ แบงก์คงจะปล่อยสินเชื่อได้น้อยมาก บสย.ถือว่ามีส่วนช่วยทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น"นายวัลลภ กล่าว
ที่มา www.thanonline.com