​สถาบันอาหารคาดส่งออกโต 6.9% ชี้ตัดจีเอสพีกระทบอาหารทะล ผลไม้แปรรูป

สถาบันอาหาร คาดปี 2558 มูลค่าส่งออกทะลุ 1.08 ล้านล้านบาท โต 6.9% มั่นใจแม้ยุโรปตัดจีเอสพีกระทบน้อย ขณะตลาดจีน-อาเซียน-รัสเซีย ขยายตัว เผยปี 2557 ยอดส่งออกรวม 1.01 ล้านล้านบาท โต 15.4%



    
    สถาบันอาหาร คาดปี 2558 มูลค่าส่งออกทะลุ 1.08 ล้านล้านบาท โต 6.9% มั่นใจแม้ยุโรปตัดจีเอสพีกระทบน้อย ขณะตลาดจีน-อาเซียน-รัสเซีย ขยายตัว เผยปี 2557 ยอดส่งออกรวม 1.01 ล้านล้านบาท โต 15.4%

    นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปี 2558 คาดว่าการส่งออกอาหารจะมีมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัว เงินบาทอ่อนค่า ราคาน้ำมันลดลง ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

    สินค้าหลัก 6 กลุ่มที่จะขยายตัว ได้แก่ ข้าว คาดว่าจะขยายตัว 2.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 9.4% ไก่ 20.4% ปลาทูน่ากระป๋อง 0.7% และเครื่องปรุงรส 7.4%

    ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมียอดการส่งออกที่ลดลง 2 กลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ลดลง 3% เนื่องจากความไม่แน่นอนของวัตถุดิบ และน้ำตาลทราย คาดว่าจะลดลง 5.4%

    "ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปีหน้า จะเป็นเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้จากอุตสาหกรรมนี้ลดลง เช่น ข้าว น้ำตาลทราย ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งปัญหาที่ไทยถูกยุโรปตัดจีเอสพี ซึ่งกลุ่มอาหารทะเล และกลุ่มผักผลไม้แปรรูป ที่จะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน”

    ปี 2558 สถาบันอาหารจะเร่งผลักดัน คือ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย และโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยทั้ง 3 โครงการมุ่งสนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยเน้นให้ไทยเป็น “ครัวคุณภาพของโลก”

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการตัดจีเอสพีของยุโรป จะกระทบต่อการส่งออกอาหารไทย แต่ก็มีมูลค่าไม่มาก เพราะตลาดยุโรปไม่ได้ใหญ่มาก มีมูลค่าอยู่อันดับ 4 ของตลาดส่งออกไทย โดยเชื่อว่าตลาดหลักอื่นๆ จะมีมูลค่าการส่งออกเข้ามาชดเชยได้ เช่น ตลาดจีน อาเซียน และรัสเซีย คาดว่าแต่ละตลาดจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งถึงแม้ว่ารัสเซียจะมีปัญหาเรื่องค่าเงินรูเบิล แต่ควาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

    “ตลาดจีนมีอัตราการเติบโตเร็วมากโดยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวระดับ 10-20% มีมูลค่าจาก 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มไปกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าตลาดรัสเซียจะเติบโตไม่แพ้จีน เพราะถึงแม้ว่าจะมียอดการส่งออกในรัสเซียประมาณ 1 พันล้านบาท จะเพิ่มเป็นหมื่นล้านบาทได้ในเวลาอันใกล้ รวมทั้งตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม ก็มีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากรูปแบบการบริโภคเปลี่ยนไปเป็นการบริโภคอาหารแปรรูปมากขึ้น ตามรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้น”

    ในปีนี้ ยังเตรียมให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตไปในทิศทางที่สอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(เออีซี)อย่างเต็มรูปแบบ โดยได้มุ่งพัฒนาและผลักดันให้โรงงานแปรรูปอาหารของไทยทุกระดับเข้าสู่ระบบคุณภาพสุขอนามัยในการผลิตระดับสากลไม่น้อยกว่า 500 สถานประกอบการ พัฒนาบุคลากรไม่น้อยกว่า 3 พันคน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคและเสริมสร้างมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 90 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังนำพาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดสากล และมุ่งเน้นการส่งเสริมเอกลักษณ์อาหารไทยและวัฒนธรรมไทย

    ส่วนภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2557 มีมูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท ขยายตัว 15.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคขยายตัว โดยเฉพาะจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงการลดลงของราคาสินค้าเกษตร วัตถุดิบ และน้ำมัน ที่ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าไทยถูกลงในมุมมองของประเทศคู่ค้า

    สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว เติบโต 26.1% มันสำปะหลัง เติบโต 22.1% และเนื้อไก่เติบโต 12% ส่วนตลาดส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน ขยายตัว 22.2% ญี่ปุ่น 13.1% และจีน 11.8%

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

NEWS & TRENDS