บาทอ่อน!นำเข้าเครื่องจักรจ่อเสียดุล

แบงก์เตือนนำเข้าเครื่องจักรชดเชยเสียหายน้ำท่วมไตรมาสแรกแพงหูฉี่ เหตุบาทอ่อน คาดค่าเงินผันผวนทั้งปี แนะผู้ส่งออก-นำเข้าประกันความเสี่ยง บิ๊กซีพีเอฟเชื่อไตรมาส 1 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น

       แบงก์เตือนนำเข้าเครื่องจักรชดเชยเสียหายน้ำท่วมไตรมาสแรกแพงหูฉี่ เหตุบาทอ่อน คาดค่าเงินผันผวนทั้งปี แนะผู้ส่งออก-นำเข้าประกันความเสี่ยง บิ๊กซีพีเอฟเชื่อไตรมาส 1 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น 

       นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  เปิดเผยว่า การซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อชดเชยความเสียหายน้ำท่วมในช่วงไตรมาสแรกปี 2555 จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้เงินบาทแลกดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น เพราะเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และยังมีทิศทางที่ผันผวนอย่างมากตลอดทั้งปี

       ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 1 เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากมีปัจจัยพิเศษจากเงินต่างชาติไหลเข้าไทยจากการชดเชยค่าสินไหมทดแทนประมาณแสนล้านบาท ซึ่งได้เริ่มทยอยเข้ามาแล้วในขณะนี้ หลังจากนั้นหรือช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าอีกในทิศทางเดียวกับสกุลเงินภูมิภาค โดยธนาคารมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าถึงระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าสุดที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายในปีเดียว+

       “ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเงินบาทจะวิ่งไปทางใด เพราะไตรมาสแรกจะแข็งค่าจากเงินเคลมประกันไหลเข้า ไตรมาส 2 ก็จะอ่อนค่าลง ส่วนไตรมาส 3-4 ก็ต้องรอดูสภาพเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งปีผันผวนหนักแน่นอน ดังนั้น ทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าต้องปิดความเสี่ยงทั้ง 2 ด้าน และให้ความสำคัญกับการประกันการส่งออกเพื่อป้องกันคู่ค้าเบี้ยวชำระค่าสินค้า” นายทรงพลระบุ

       อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนมีความต้องการสินเชื่อในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าต้นทุนจ่ายดอกเบี้ยจะสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับการกู้ยืมเงินบาทและต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมดอลลาร์สหรัฐก็ยังเป็นต้นทุนที่ถูกกว่า

       นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณท์อาหาร (CPF) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในไตรมาสแรกของปี 2555 ภายหลังจากช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตลดลง เพราะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลภาพรวมปี 2554 เศรษฐกิจจะเติบโตเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งจากแนวโน้มที่เริ่มปรับตัวดีในไตรมาสแรกของปี  2555 เชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมปีหน้าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้ที่ 4%

       สำหรับธุรกิจอาหารจะยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เนื่องจากเป็นปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต ประกอบกับการขยายตัวของที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ  เริ่มมีการกระจายไปยังปริมณฑลมากขึ้น ทำให้คนในพื้นที่ดังกล่าวมีการบริโภคอาหารประเภทสำเร็จรูปมากขึ้น.

ที่มา : ไทยโพสต์

NEWS & TRENDS