รมว.คลังถกยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลัง รองรับประชาคมอาเซียน ปี 57-60 อำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการเงิน
รมว.คลังถกยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลัง รองรับประชาคมอาเซียน ปี 57-60 อำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการเงิน
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลัง เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ปี 57-60 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในโครงการต่าง ๆ แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ 13 กลยุทธ์ 34 มาตรการ ได้แก่ การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน ที่จะการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งผ่านแดน ที่ให้ประเทศสมาชิกอนุญาตให้รถยนต์ขนส่งที่จดทะเบียนในประเทศสมาชิกอื่นสามารถขนสินค้าผ่านประเทศตนได้ ผ่านจุดผ่านแดนและเส้นทางที่กำหนด โดยได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีและค่าบริการอื่น และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและการเงินอีกด้วย
ทั้งนี้ ไทยได้กำหนดจุดที่ทำการพรมแดนแล้ว 7 จุด ประกอบด้วย แม่สาย แม่สอด อรัญประเทศ หนองคาย สะเดา มุกดาหาร และเชียงของ โดยกำลังหารือกับประเทศสมาชิก เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการกำหนดจุดผ่านแดน คาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถลงนามได้ภายในปี 58 รวมทั้ง ระบบการประกันภัยทางรถยนต์ภาคบังคับอาเซียน เพื่อลดปัญหารถยนต์ข้ามแดนระหว่างกัน โดยประเทศได้มอบหมายให้บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ทำหน้าที่เป็นสำนักงานประกันภัยรถผ่านแดนแห่งชาติ
ขณะที่ ระบบศุลกากรผ่านแดน จะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการส่งข้อมูลและสื่อสารกับผู้ค้า รวมทั้งการใช้แบบฟอร์มและหลักประกันเดียวกันทั้งภูมิภาคอาเซียนสำหรับสินค้าส่งผ่านประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการส่งออก ในส่วนของไทยได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากรเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าผ่านแดน พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกประเทศ รวมทั้งวิธีการนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อลงนาม และการจัดตั้งการให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านศุลกากรของประเทศในการอำนวยความสะดวก ทางการค้าระหว่างประเทศ ที่จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบภายในเดือนมี.ค.58
สำหรับมาตรการภาษีด้านตลาดทุนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุน กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดทุนในอาเซียน โดยยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ให้กับนักลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน และให้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศที่มีหุ้นจดทะเบียนใน 2 ตลาดหลักทรัพย์ สามารถเลือกหักภาษี 10% ณ ที่จ่ายได้โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำ รวมถึง พัฒนาระบบชำระเงิน ได้เชื่อมโยงระบบเอทีเอ็มของไทยกับของประเทศมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อให้บริการเบิกถอนเงินสดระหว่างประเทศแล้ว และจะพิจารณาแนวทางการโอนเงินกลับของแรงงานต่างด้าวผ่านช่องทางที่ได้รับอนุญาตอีกด้วย
นอกจากนี้ ส่งเสริมการลงทุนไทยในอาเซียน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับเงินทุนขาออกเพิ่มขึ้นตามแผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ โดยลดข้อจำกัดเงินทุนขาออก ที่อนุญาตให้นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้โดยตรง ให้กู้เงินได้ไม่จำกัดวงเงิน แต่ยังคงมีมาตรการรองรับยามฉุกเฉิน รวมถึง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยปรับปรุงขั้นและอัตราภาษีเงินได้ ที่ปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการทั่วไปจาก 5 ขั้นเป็น 7 ขั้น และปรับลดอัตราสูงสุดจาก 37% เป็น 35% ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลปรับลดจาก 30% เหลือ 20% เป็นต้น
ที่มา เดลินิวส์