"อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม" ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ของไทย ซึ่งผลการศึกษาของ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์กรมหาชน) หรือ "ITD"

"อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม" ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ของไทย ซึ่งผลการศึกษาของ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์กรมหาชน) หรือ "ITD" ภายใต้ "โครงการศึกษาเขตการค้าเสรีไทยอาเซียน/สหภาพยุโรป ในมิติอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม" ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสร้างรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่อันดับ 4 สามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 224,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 2.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (GDP) ซึ่งจากตัวเลข 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2557) ไทยส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปตลาดยุโรปมูลค่า 1,083.47 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 32,288 ล้านบาท) คิดเป็น 6.9% ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมากเป็นอันดับ 3 รองจากตลาดอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับ 7 ของรายได้การส่งออกทั้งประเทศ
ความท้าทายเครื่องนุ่งห่มไทย
ไทยถือเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ-ปลายน้ำอย่างสมบูรณ์ เสมือนเป็นศูนย์กลางในอาเซียน แต่ปัจจุบันไทยเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผู้ผลิตบางรายเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศใกล้เคียง ทำให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย
โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตไปยัง "เวียดนาม" ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากและค่าจ้างราคาถูก บวกกับเวียดนามยังคงได้สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จากตลาดสหภาพยุโรป ขณะที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP ไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ในฐานะที่ไทยจัดให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน
ไทยต้องยอมรับว่ารัฐบาลเวียดนามพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอย่างจริงจังกว่ารัฐบาลไทยทั้งการจัดทำแผนพัฒนาระยะยาวให้เติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้บริษัทผู้ผลิตรักษาความสัมพันธ์กับบริษัทนำเข้าในต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าสินค้าโดยสร้างตราสินค้าของตัวเอง เน้นขายในประเทศ รวมถึงการอนุมัติเงินลงทุนการผลิตวัตถุดิบเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้สัดส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดโลกมากขึ้น กินส่วนแบ่งตลาดเกือบ 2% ของมูลค่าการส่งออกรวมของโลกในช่วง 5 ปีย้อนหลังไป โดยในปี 2556 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 600,000 ล้านบาท) ขยายตัว 18.6% สินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ สูท แจ็กเกต เสื้อถักแบบนิต หรือแบบโครเชต์ ฯลฯ
ไม่เพียงเวียดนามเท่านั้นที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี แต่อินโดนีเซีย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ ก็ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีเช่นกัน ไทยจึงจำเป็นต้องกลับมาส่องกระจกดูตัวเองว่าขณะนี้สินค้าบางรายการที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปนั้น มีความคล้ายคลึงกับสินค้าส่งออกของประเทศคู่แข่งมาก ไทยได้เปรียบเพียงอุตสาหกรรมต้นน้ำนั่นคือ เป็นผู้ผลิตเส้นใยแต่จะนอนใจไม่ได้เพราะเวียดนามมีการผลิตที่เข้มแข็งขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมกลางน้ำ ปลายน้ำ ดังนั้น รัฐบาลควรปรับนโยบายและกลยุทธ์ทางการค้าการลงทุนของประเทศไทยอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียตลาดสหภาพยุโรปที่เป็นผู้นำเข้าเครื่องนุ่งห่มอันดับต้นของโลก และเคยเป็นเบอร์ 1 ในการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มฯในปี 2555 นำเข้ามูลค่า 244,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7.3 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของมูลค่าการนำเข้าโลก
3 ทางรอดเครื่องนุ่งห่มไทย
ทางออกของไทยจึงมี 3 ทางเลือก คือ 1) เจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปโดยเร็ว เพื่อเจรจาให้ได้อัตราภาษีศุลกากรระหว่างกันที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ 2) ผู้ประกอบการที่สินค้ามีศักยภาพ อาจพิจารณาขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเสริมกับการประกอบธุรกิจในไทย เพื่อช่วยบรรเทาความสูญเสียจากภาษีที่เพิ่มขึ้น และ 3) การพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มรวม โดยไม่ต้องพึ่งพา GSP อีกต่อไป
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกล่าวว่า ผลกระทบที่ไทยถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า GSP ทำให้ไทยเสียภาษีในอัตรา 12% หรือสูงขึ้นตามที่ยุโรปเรียกเก็บ เปรียบเทียบบางประเทศในอาเซียนที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์ GSP ทำให้เกิดแรงแข่งขันที่สูงขึ้น แม้ไทยจะรู้ชะตากรรมของการจะถูกตัดสิทธิ์ GSP มาแล้ว 1 ปี ไทยยังคงเร่งการเจรจา FTA กับยุโรป และพยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาระดับอาเซียน-สหภาพยุโรป เพื่ออำนาจการต่อรองต่อกลุ่มอาเซียนด้วยกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ไทยมีจุดแข็งที่มีระบบการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำเลเป็นศูนย์กลางอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์พร้อม สมาคมผู้ประกอบการมีการรวมตัวกัน มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิต เช่น การสร้างสรรค์เส้นใยชนิดใหม่และการพัฒนาเทคนิคย้อมผ้า รวมถึงจุดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม
ด้าน นายชาติชาย สิงหเดช ผู้อำนวยการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย มองว่า หากเวียดนามลงนามความตกลงการค้า FTA กับยุโรปสำเร็จจะเสียอัตราภาษีเพียง 0% เท่านั้น เอกชนต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์
ควบคู่ไปกับแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2555-2574 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำหนดให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มไทยเป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมนำร่องและแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการส่งเสริมเอสเอ็มอี สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มว่าจะสามารถนำอุตสาหกรรมนี้เผชิญกับการแข่งขันและการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ได้หรือไม่
ที่มา : www.prachachat.net