กสอ จับมือ HIDA ขยายตลาดยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในแอฟริกาใต้ ประเภทอะไหล่ทดแทน ภายใต้ โครงการ “การศึกษาดูงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แอฟริกาใต้”
กสอ จับมือ HIDA ขยายตลาดยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในแอฟริกาใต้ ประเภทอะไหล่ทดแทน ภายใต้ โครงการ “การศึกษาดูงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แอฟริกาใต้”
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศแอฟริกาใต้เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวแอฟริกาใต้ นิยมซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพราะเป็นสิ่งจําเป็นในการดํารงชีวิตและเป็นเครื่องบ่งชี้ฐานะทางสังคม
อีกทั้งแอฟริกาใต้มีจำนวนประชากรกว่า 45.7 ล้านคน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของแอฟริกาใต้ยังชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวและทํากิจกรรมกลางแจ้งกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ในวันหยุดสุดสัปดาห์ อาทิ ขับรถชมวิวทิวทัศน์และเที่ยวชมสัตว์ป่าที่อาศัยอย่างอิสระตามธรรมชาติ (Safari) ในอุทยานสำคัญ จึงทำให้เกิดความต้องการรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูง และสามารถใช้ในพื้นที่ทุรกันดารได้
ประกอบกับภูมิประเทศของแอฟริกาใต้เป็นป่าและทะเลทรายเป็นส่วนใหญ่ ทําให้อายุการใช้งานของชิ้นส่วนยานยนต์สั้น จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออก ชิ้นส่วนยานยนต์ ประเภท REM อาทิ เกียร์ ระบบเบรก ระบบกันสะเทือน เพลา โชกอัพ พวงมาลัย เข็มขัดนิรภัย ยางอะไหล่ และกระจกรถยนต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ อุปกรณ์แต่งรถยนต์จำพวกบันไดสำหรับก้าวขึ้นรถ กันชนที่ออกแบบสวยงามเข้ากับตัวถัง เป็นที่ต้องการมากทั้งในแง่อำนวยความสะดวกและประดับตกแต่งในด้านการใช้งานเพื่อเหมาะสำหรับไลฟ์สไตล์
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า กสอ. และสำนักพัฒนาทรัพยากรบุคคลและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ HIDA (The Overseas Human Resources and Industry Development Association) ได้ร่วมกับ คณะผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของแอฟริกาใต้ ดำเนินโครงการ “การศึกษาดูงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แอฟริกาใต้”
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของแอฟริกาใต้มีความเข้าใจในรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย ภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การบังคับใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ และการตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเป็นการพยุงเวลาให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศสามารถพัฒนาได้ทัน
รวมทั้งการตั้งสถาบันยานยนต์ เพื่อเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยโดยเฉพาะ ตลอดจนการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อีกทั้งโครงการความร่วมมือกับญี่ปุ่นด้านการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ (AHRDP)
ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นกรณีศึกษาอย่างหนึ่งในการสนับสนุนความก้าวหน้าของผู้ผลิตยานยนต์รายใหม่ในแอฟริกาใต้ โดยความพยายามที่จะพัฒนาและดึงดูดอุตสาหกรรมยานยนต์และเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานระบบอุตสาหกรรมยานยนต์ในแอฟริกาใต้เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมแก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์รายใหม่ๆ ที่ต้องการขยายเข้าไปในแอฟริกาใต้ต่อไป ทั้งส่งผลให้ไทยมีช่องทางในการขยายตลาดไปยังแอฟริกาใต้ได้มากขึ้น
โดยปัจจุบัน แอฟริกาใต้เป็นฐานการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ถึง 7 รายด้วยกัน อาทิ โตโยต้าและนิสสัน ที่มีกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 6 แสนคันต่อปี และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนหนึ่งก็ทยอยเข้าไปขยายการลงทุนในแอฟริกาใต้ แต่การเข้ามาของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหม่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการอุตสาหกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ แอฟริกาใต้ตั้งเป้าหมายยกระดับประสิทธิภาพการผลิตรถยนต์ให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2563” อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 แอฟริกาใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 4.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปแอฟริกาใต้ 2.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากแอฟริกาใต้ 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าแอฟริกาใต้ 3.72 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ถือว่าเป็นสินค้าส่งออกอันดับแรกของไทยไปแอฟริกาใต้ ด้วยมูลค่ากว่า 785.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และส่วนประกอบ และ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มีมูลค่า 311.37 และ 305.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ (ข้อมูล : ระบบฐานข้อมูลสถิติการค้าไทย กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร) นายอาทิตย์ กล่าวสรุป