นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 18กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 38 ราย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ยื่นขอ..
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 18กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 38 ราย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ยื่นขออนุญาตครั้งแรกจำนวน 20 ราย ทั้งนี้ การอนุญาตทำให้คนต่างด้าวต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในการประกอบธุรกิจจำนวน811ล้านบาทและมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 413 คน ซึ่งธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่มและบริษัทคู่ค้า จำนวน 21 ราย (คิดเป็นร้อยละ 55 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 530 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้กู้ยืมเงินให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน และบริการทางบัญชีเป็นต้นเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา และจีน
2. ธุรกิจสำนักงานผู้แทน จำนวน 7 ราย (คิดเป็นร้อยละ 19 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 21 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจการผลิต การตลาด การลงทุน ตลอดจนความต้องการใช้สินค้าและบริการต่างๆ ให้สำนักงานใหญ่ทราบ เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง
3. ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 5 ราย (คิดเป็นร้อยละ 13 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 26 ล้านบาท เช่น การค้าปลีกแม่พิมพ์และอุปกรณ์จับยึดชิ้นงานให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ การค้าปลีกเครื่องจักรอัตโนมัติที่ใช้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นต้น เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี สิงคโปร์ และฟินแลนด์
4. ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 3 ราย (คิดเป็นร้อยละ 8 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 113 ล้านบาท ได้แก่ การค้าส่งอุปกรณ์ยึด (Fastener) และอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ การค้าส่งเหล็กและวัตถุดิบในการผลิตแม่พิมพ์ให้แก่ผู้รับจ้างผลิตสินค้าของบริษัทเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น
5. ธุรกิจนายหน้าตัวแทน จำนวน 2 ราย (คิดเป็นร้อยละ 5 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 121ล้านบาท ได้แก่ การทำกิจการนายหน้าเพื่อจัดหาตลาดสำหรับการจำหน่ายสินค้าและการทำกิจการตัวแทนเพื่อติดต่อประสานงานกับบริษัทผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้แก่บริษัทในเครือ เป็นคนต่างด้าวจากประเทศเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 3 และเงินลงทุนลดลง 856 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ51และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 16 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 73 ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 1,034 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 56 เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินและรับค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทในเครือซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2558) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 75 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,478 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 15 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 25 และเงินลงทุนลดลง 108 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 4