​เร่งกวาดล้างละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ธุรกิจใหญ่เล็กฟันไม่เลี้ยง

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยในปีที่ผ่านๆ มา การปราบปรามเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจการผลิตและก่อสร้าง



    กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยในปีที่ผ่านๆ มา การปราบปรามเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจการผลิตและก่อสร้าง 

    แต่ในครั้งนี้จะพุ่งเป้าไปยังองค์กรทั้งหมดในทุกกลุ่มธุรกิจที่พบเบาะแสข้อมูลใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตามสัญญาโดยจะรวบรวมจำนวนธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และเล็กผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่ใช้ซอฟต์แวร์ เช่นกัน 

    การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ยังคงมีความเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ มัลแวร์และการคุกคามทางไซเบอร์  ทาง บก.ปอศ. มองว่าซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเป็นบันไดขั้นแรกในการป้องกันภัยคุกคามในโลกไซเบอร์

    นับตั้งแต่ต้นปี มีบริษัทมากกว่า 40 แห่งทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และราชบุรี ที่ถูกเข้าตรวจค้นและจับกุมในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 

    พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รอง ผบก.ปอศ. รักษาราชการแทน ผบก.ปอศ. กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรเหล่านี้ บ่อยครั้งที่ไม่รู้ว่าองค์กรธุรกิจของตนกำลังทำผิดกฎหมาย แต่ความไม่รู้ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวได้ 

    และองค์กรธุรกิจเหล่านี้กำลังเป็นเป้าหมายของการปราบปรามจากการกระทำผิด และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทและองค์กรนี้ต้องร่วมรับผิดชอบ ที่ยอมให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต

    ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงและกำลังคุกคามระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยที่รัฐบาลกำลังสร้างขึ้น เพราะการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายหรือการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ถือเป็นการโจรกรรมแบบหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการเติบโตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

    อีกทั้ง การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น แต่บริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทยและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

    พ.ต.อ.สรรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "บริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทยได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เช่นในกลุ่มซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์กันมาก ตัวอย่างเช่น พบว่ามีซอฟต์แวร์พจนานุกรมไทยของบริษัทไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ติดอยู่ด้วยกรณีนี้ยังส่งผลต่อไปถึงอนาคตของเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย”

NEWS & TRENDS