TDRIจี้เลิกประชานิยม"บ้าน-รถ" หวั่งคลังเจ๊ง

ดีอาร์ไอแนะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลิกประชานิยม "บ้าน-รถ" เพื่อลดรายจ่ายในช่วงเศรษฐกิจเสี่ยงสูง รายได้หดหายจากน้ำท่วม เชื่อประชาชนเข้าใจ ห่วงปัญหาการเมือง วิกฤติหนี้ยุโรปกระทบเศรษฐกิจไทย อดีต กนง.มอง ธปท.หั่นดอกเบี้ยปีนี้ 2 สลึง บัญชีกลางพร้อมจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท

    ดีอาร์ไอแนะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลิกประชานิยม "บ้าน-รถ"  เพื่อลดรายจ่ายในช่วงเศรษฐกิจเสี่ยงสูง รายได้หดหายจากน้ำท่วม เชื่อประชาชนเข้าใจ ห่วงปัญหาการเมือง วิกฤติหนี้ยุโรปกระทบเศรษฐกิจไทย  อดีต กนง.มอง ธปท.หั่นดอกเบี้ยปีนี้ 2 สลึง บัญชีกลางพร้อมจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท 

    นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  (TDRI) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ฤๅประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย ว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  เป็นเรื่องที่น่าห่วง

    เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลจะหายไปหลังจากการขยายตัวเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปี 2554 ต่อเนื่องไตรมาสแรกปี 2555 จะขยายตัวในอัตราต่ำมาก  ในขณะที่รัฐบาลกลับมีภาระรายจ่ายในระดับสูง เพื่อใช้ในการซ่อมแซมและฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ดังนั้น หากรัฐบาลเลิกนโยบายประชานิยม เช่น บ้านหลังแรก รถคันแรก ประชาชนจะเข้าใจ

    “ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้เบี้ยว หากเพราะในภาวะอย่างนี้ต้องกระเหม็ดกระแหม่ จำเป็นต้องใช้เงินช่วยประชาชนในสิ่งที่เดือดร้อนที่สุด ถ้ารัฐบาลกล้าทำอย่างนี้ ประชาชนจะชื่นชมมากกว่าการที่ทำอะไรต่อไปแล้วเงินไม่พอ จะเกิดวิกฤติทางด้านการคลังมากกว่า” นายนิพนธ์ระบุ 

    ขณะเดียวกัน ยังมีความเป็นห่วงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ เพราะถือเป็นปัจจัยที่เสี่ยงมากที่สุดเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง มีเรื่องเกิดขึ้นอยู่ตลอดและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือว่าไม่ค่อยดี รวมทั้งกังวลวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (อียู) กระทบเศรษฐกิจไทยแม้ยังมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาได้ ถ้าข้อตกลงเรื่องวินัยทางการคลังของกลุ่มอียูสามารถตกลงกันได้ ความเสี่ยงน่าจะลดลง

    อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยขณะนี้จะขยายตัวในอัตราต่ำจากผลกระทบน้ำท่วม แต่หากฟื้นตัวได้เศรษฐกิจจะพุ่งขึ้นทันที แม้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำก็ตาม ซึ่งโดยปกติจีดีพีไทยจะขยายตัวประมาณ 4-5% แต่ด้วยฐานต่ำในปี 2554 ดังนั้นในปีนี้น่าจะเติบโตได้ที่ 6-7% 

    นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า กนง.น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือจากระดับ 3.25% เป็น 3.00%  ต่อปี ในการประชุมครั้งแรกปีนี้ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ และทั้งปีน่าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงอยู่ในขาลงค่อนข้างมาก จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่ยังน่าเป็นห่วง  ประกอบกับปัญหาระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ ซึ่งหากมีความรุนแรง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น   

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี  (ครม.) ได้เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2555 แล้ว ขอให้ส่วนราชการต่างๆ เร่งดำเนินการออกคำสั่งเพื่อปรับเงิน พ.ช.ค. เท่ากับผลต่างของเงินเดือนหรือค่าจ้าง หลังจากที่ได้ปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนค่าจ้างประจำปีเรียบร้อยแล้ว และขอเบิกมายังกรมบัญชีกลางได้ตลอดเวลาภายในเดือน ม.ค.2555

    ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ปริญญาตรี 15,000  บาท.

ที่มา : ไทยโพสต์

NEWS & TRENDS