​กรอ.เตรียมส่งเสริมเอกชนลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 แห่ง

กรอ. เตรียมที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 12 แห่งตามนโยบายรัฐบาล



    นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวในการเสวนา โอกาสการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ว่า กรอ. เตรียมที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 12 แห่งตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะช่วยในการดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาขยายพื้นที่อุตสาหกรรม โดยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้เท่ากันตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนด

    อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของการตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมภายใต้การดูแลของ กรอ. คือความคล่องตัวในการจัดตั้ง เพราะกำหนดขั้นต่ำเพียง 200 ไร่ ขณะที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำหนดไว้ต้องมีขนาดที่ดิน 400-500 ไร่ขึ้นไป รวมทั้งโรงงานที่เข้ามาตั้งในเขตประกอบการอุตสาหกรรมก็ไม่ต้องขอใบ ร.ง.4 เนื่องจากได้อนุมัติ ร.ง.4 ในภาพรวมทั้งเขตประกอบการฯ ไปหมดแล้ว ส่วนมาตรฐานความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมก็อยู่ในมาตรฐานที่เข้มงวดเหมือนกัน โดยหลังจากนี้ กรอ. จะออกเดินสายชักชวนนักลงทุนภายในประเทศให้เข้ามาตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมดังกล่าว

    ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวในการเสวนา “โอกาสการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” ว่า การตั้งนิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะเน้นในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง และการตั้งนิคมฯ โลจิสติกส์ ซึ่งจะแบ่งแยกตามศักยภาพของพื้นที่ อาทิ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมุกดาหารจะเน้นให้เกิดการตั้งนิคมฯ โลจิสติกส์ และนิคมแปรรูปการเกษตร เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้ศักยภาพของด้านการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านและในพื้นที่ผลิตสินค้าในต้นทุนต่ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.ตราด เบื้องต้นกำหนดพื้นที่ 400 ไร่ ในการพัฒนาเป็นนิคมโลจิสติกส์ และนิคมธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องศึกษาความเหมาะสมด้านการลงทุนต่อไป ด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.สระแก้ว จะเน้นในนิคมอุตสาหกรรมพลาสติก กระดาษและบรรจุภัณฑ์ และนิคมโลจิสติกส์

    โดยหลังจากนี้ กนอ. จะศึกษาเชิงลึกว่า ในพื้นที่ใด กนอ. จะเป็นผู้ลงทุนเอง หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนา ส่วนความกังวลในเรื่องของความต่อเนื่องของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษว่าจะอยู่ในรูปแบบใด โดยให้นายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้บริหาร ซึ่งอาจจะออกเป็นกฎหมายกำหนดพื้นที่เจาะจงเพื่อให้ทุกรัฐบาลจะต้องสานต่อโครงการนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก นำร่อง จากนั้นจะทดลองมอบอำนาจการบริหารงานต่าง ๆ ลงไป จากนั้นก็จะขยายไปสู่เขตเศรษฐกิจเศษอื่น ๆ ต่อไป

NEWS & TRENDS