มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ทำการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 428 รายจาก 8 จังหวัด เกี่ยวกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 แนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ใช้ การคาดการณ์ผลประกอบการและอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ทำการสำรวจระหว่างวัน..
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ทำการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 428 รายจาก 8 จังหวัด เกี่ยวกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 แนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ใช้ การคาดการณ์ผลประกอบการและอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2558
จากการสำรวจถึงผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ โดยแบ่งตามขนาดของสถานประกอบการพบว่า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (การจ้างงานไม่เกิน 5 คน) 54% ระบุว่า ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 34% ระบุว่า ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และอีก 12% ระบุว่า มากกว่าที่คาดการณ์ไว้
สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (การจ้างงาน 6 ถึง 50 คน) 44% ระบุว่า ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 38% ใกล้เคียงกัน และอีก 18% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้
และสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง (การจ้างงาน 51 ถึง 200 คน) 36% ระบุว่า ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 47% ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และอีก 17% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้
จากการให้ผู้ประกอบการที่ระบุว่ายอดขายลดลงประเมินการลดลงของยอดขาย พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ยอดขายในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ของผู้ประกอบการรายย่อยลดลงประมาณ 32% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ผู้ประกอบการขนาดเล็กยอดขายลดลง 24% และผู้ประกอบการขนาดกลางยอดขายลดลง 18%
เมื่อสอบถามถึงแนวทางการปรับตัวที่ใช้ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการทั้งสามกลุ่มมีแนวทางการปรับตัวที่คล้ายคลึงกัน โดยแนวทางที่นิยมใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การลดราคาสินค้า การใช้โซเชียลมีเดียมาช่วยโฆษณาและทำตลาด การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ การให้ของแถมและบัตรกำนัล และการพัฒนาความสามารถของพนักงานเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น
ซึ่งจากการประเมินของผู้ประกอบการพบว่า แนวทางเหล่านี้ให้ผลในการกระตุ้นยอดขายอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ส่วนแนวทางที่นำมาใช้แล้วไม่ประสบผลเท่าที่ควร ได้แก่ การออกร้านประชาสัมพันธ์ การนำเสนอบริการ/ผลิตภัณฑ์ใหม่ และการโฆษณาด้วย SMS
ด้านการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 พบว่า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 23% คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้น 47% ใกล้เคียงกัน 30% แย่ลง สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง 29% คาดว่าดีขึ้น 49% ใกล้เคียงกัน 22% แย่ลง และสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง 31% คาดว่าดีขึ้น 55% ใกล้เคียงกัน 14% แย่ลง
สำหรับอุปสรรคสำคัญ 5 อันดับแรกที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจ ได้แก่ การลดลงของกำลังซื้อในประเทศ การขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งทุน กำลังซื้อจากต่างประเทศ การเกิดภัยแล้ง และต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่ง
หากประเมินจากผลสำรวจในครั้งนี้ จะเห็นว่า แนวทางการปรับตัวในระยะสั้นที่ได้ผลนั้น เป็นแนวทางที่สามารถทำได้เร็ว มีต้นทุนในการดำเนินการไม่สูงนัก ผู้ประกอบการจึงมุ่งไปที่การกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการลดราคา การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ พัฒนาให้บุคลากรทำงานให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการทำตลาดด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้เร็วที่สุด