คาดปี 55 อาหารไทยส่งออกจีนแตะ 2,100 ล้านดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามอง แม้ว่าในปัจจุบันมีสินค้าอาหารของจีนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น แต่ไทยก็ยังได้ดุลการค้าสินค้าอาหารกับจีนมาโดยตลอด และไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารในจีนได้อีกมาก จึงคาดการณ์ว่าในปี 2555 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารของจีนจากไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3

      ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามอง แม้ว่าในปัจจุบันมีสินค้าอาหารของจีนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น แต่ไทยก็ยังได้ดุลการค้าสินค้าอาหารกับจีนมาโดยตลอด และไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารในจีนได้อีกมาก  จึงคาดการณ์ว่าในปี 2555 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารของจีนจากไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3  

     โดยสินค้าอาหารกลุ่มที่ยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการส่งออก ยังคงเป็นผลไม้เมืองร้อน แป้งมันสำปะหลัง และข้าว กล่าวคือ สินค้าประเภทผลไม้เมืองร้อน ยังจะได้อานิสงส์จากการขยายความเจริญไปยังดินแดนแถบตะวันตกของจีนและการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังตลาดจีน สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ธัญพืช โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังแปรรูป ที่จีนยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ในขณะที่ไทยมีศักยภาพในการขยายตลาดส่งออก 


ส่วนสินค้าธัญพืชที่ไทยยังสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังจีนได้คือ ข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีน โดยเฉพาะตลาดระดับภัตตาคารขนาดใหญ่หรือโรงแรม และกลุ่มคนรายได้สูง แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาในเรื่องการปลอมปน

  อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องคำนึงถึงคือ แนวโน้มการแข่งขันในสินค้าอาหารที่เป็นสินค้าตัวหลักที่ไทยส่งออกไปจีนเริ่มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง จากประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งเกษตรกรของจีนเองก็มีการพัฒนาทั้งในด้านปริมาณการผลิตและคุณภาพของผลผลิต ดังนั้น หากผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องการจะรักษาตลาดจีนเอาไว้และเจาะขยายตลาดเพิ่มเติมจะต้องพยายามชี้ให้ผู้บริโภคหรือโรงงานที่ผลิตสินค้าในจีนเห็นข้อแตกต่างระหว่างสินค้าอาหารจากไทยและคู่แข่ง 

สำหรับสินค้าอาหารส่งออกของไทยที่มีศักยภาพในการขยายตลาดในจีนเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของประชากร ในขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นและสัดส่วนประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น สินค้าอาหารที่น่าจับตามอง คือ อาหารปรุงแต่ง(ปลากระป๋อง น้ำตาล ผลไม้กระป๋อง) ผลิตภัณฑ์กุ้ง(โดยเฉพาะกุ้งแปรรูป) เครื่องปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ซึ่งไทยมีศักยภาพในการขยายการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดจีน และสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดอาหารในจีน คงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในจีนที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจและหาช่องทางในการจัดจำหน่ายเพื่อการกระจายสินค้าอาหารให้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงด้วย
 

NEWS & TRENDS