​เปิดซิงธุรกิจ "นาโนไฟแนนซ์" จับตาน้องใหม่ลงสนามสินเชื่อรายย่อย

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดภายในเดือน เม.ย.นี้ จะมีผู้ประกอบการ 2 รายเริ่มให้บริการสินเชื่อแก่ประชาชน ได้แก่ เงินสดทันใจ และไทยเอชฯ ส่วนอีก 2 ราย คือ สหไพบูลย์ 2558 คาดว่าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ภายในเดือน พ.ค. ขณะที่ บมจ.แมคคาเล กรุ๊พ ขอเวลาตั้งตัว และน่าจะเริ่มปล่อยเงินกู้ในไตรมาส 3 นี้

     ยิงปืนขึ้นฟ้าปล่อยตัวผู้เข้าแข่งขันลอตแรกสู่สังเวียนตลาด"สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์" หรือสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเพิ่งมีพิธีมอบใบอนุญาต (ไลเซนส์) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 4 รายแรก ได้แก่ บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด, บริษัท ไทยเอช แคปิตอล จำกัด, บริษัท สหไพบูลย์ 2558 จำกัด และบริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน)


    ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดภายในเดือน เม.ย.นี้ จะมีผู้ประกอบการ 2 รายเริ่มให้บริการสินเชื่อแก่ประชาชน ได้แก่ เงินสดทันใจ และไทยเอชฯ ส่วนอีก 2 ราย คือ สหไพบูลย์ 2558 คาดว่าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ภายในเดือน พ.ค. ขณะที่ บมจ.แมคคาเล กรุ๊พ ขอเวลาตั้งตัว และน่าจะเริ่มปล่อยเงินกู้ในไตรมาส 3 นี้

    สำหรับ "เงินสดทันใจ" บริษัทลูกของ "บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979" หรือ SAWAD ค่อนข้างเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในตลาดสินเชื่อรายย่อย ขณะที่อีก 3 ราย ดูจะเป็น "หน้าใหม่" แต่ก็มีความน่าสนใจในกลยุทธ์และแผนธุรกิจของผู้ลงแข่งหน้าใหม่ในตลาดสินเชื่อประเภทนี้

    "คณิตเชษฐ์ วัยอัศว" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเอช แคปิตอล จำกัด บอกว่า บริษัททำธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจ (SMEs) อยู่แล้ว และมีลูกหนี้ในพอร์ตอยู่ 850-1,000 ล้านบาท มีบริษัทในเครือ เช่น "ไทยเอช ลิสซิ่ง" ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่ และบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ แต่ยังไม่เคยทำสินเชื่อกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง ดังนั้นเมื่อมีนาโนไฟแนนซ์ ที่ให้คิดดอกเบี้ยสูงสุด 36% ได้ จึงจูงใจมากขึ้น

    เขาบอกด้วยว่า ด้านการบริหารความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย บริษัทจะมีทีมงานที่เชี่ยวชาญในการติดตามทวงถามหนี้อยู่แล้ว ดังนั้นคงจะใช้ทีมงานเดิมเป็นหลัก เช่นเดียวกับการเตรียมพร้อมจัดการระบบในการปล่อยสินเชื่อที่ได้มีการเตรียมไว้แล้ว โดยเบื้องต้นตั้งงบประมาณปล่อยสินเชื่อปีนี้ไว้ 100 ล้านบาท หากผลตอบรับดีก็จะขยายวงเงินเพิ่ม

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยเอชฯทำธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นหลัก แต่ภายในปีนี้มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 2-3 สาขา โดยล่าสุด มีสาขาทดลองที่จังหวัดนครราชสีมาแล้ว และปี 2559 จะขยายเป็นกว่า 10 สาขา

    ขณะที่ "สมชาย โฆศิริมงคล" กรรมการผู้จัดการ บมจ.แมคคาเล กรุ๊พ ยอมรับว่า เป็นหน้าใหม่สำหรับธุรกิจสินเชื่อ เพราะเดิมทำธุรกิจด้านสินค้าอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันหล่อลื่น เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ แต่บริษัทต้องการตอบสนองนโยบายรัฐและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงเงินทุน จึงเห็นช่องทางที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นการกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งบริษัทจะเน้นปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบอาชีพจริง เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย โดยให้จับกลุ่ม 5 คนขึ้นไปและค้ำประกันกันเอง

    โดยสินเชื่อที่ให้มี 2 ประเภท คือ สินเชื่อเงินสดระยะสั้น ใช้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ กับสินเชื่อผ่อนชำระระยะกลางสำหรับนำไปซื้อเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าเก่าเป็นหลัก และการอนุมัติสินเชื่อน่าจะทำได้ภายใน 3 วัน หากเป็นลูกค้าใหม่จะกู้ได้ไม่เกินรายละ 2 หมื่นบาท

    นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเปิดตลาดทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นฐานธุรกิจเดิมของบริษัทอยู่แล้ว และเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ไปจนถึงชาวไร่ชาวนา เกษตรกร ซึ่งจะไม่ได้เน้นเปิดสาขาเป็นจุดบริการ

    สุดท้าย "สหไพบูลย์" ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งที่ จ.ร้อยเอ็ด "ขจิต เสรีรัตน์" ผู้จัดการเล่าว่า ในอดีตเคยทำธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ตั้งแต่ปี 2530 แต่ก็ประสบอุปสรรค เพราะปัจจุบันมีลีสซิ่งใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันเยอะ ทำโปรโมชั่นดาวน์ต่ำ ๆ แค่ 1 บาท จากเมื่อก่อนต้องดาวน์ 30% ดังนั้น บริษัทจึงหาช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ และหันมาจับธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะปล่อยกู้เท่าไร แต่คาดว่าจะให้กู้รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ระยะเวลา 3-6 เดือน เพื่อป้องกันหนี้เสีย

    "จะเปิดสาขา 4 แห่งในร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และขอนแก่น เน้นลูกค้าในตลาดสดก่อน โดยคิดดอกเบี้ย 36% ก็น่าจะพอไหว เพราะในตลาดไปดูแล้วเขาปล่อยกันอยู่ อย่างกู้ 1,000 บาท เขาคิดวันละ 40 บาท แล้วก็คิดว่าเราสู้กับอิออน หรือเฟิร์สช้อยส์ได้ เพราะการอนุมัติเราจะเร็วกว่า บางที 1 วันก็ได้ ซึ่งการพิจารณาให้กู้ เราเป็นคนพื้นที่อยู่แล้ว รู้ว่าใครเป็นใครอยู่" ขจิตกล่าว

    นับจากนี้ต้องจับตาดูต่อไปว่า "นาโนไฟแนนซ์" ที่หวังจะเข้ามาลดปัญหาหนี้นอกระบบจะทำได้ดีขนาดไหน นอกจากนี้ยังมีเอกชนรอคิวการพิจารณาคุณสมบัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังอีกกว่า 10 บริษัทอยู่ด้วย ตลาดสินเชื่อกลุ่มนี้จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 

NEWS & TRENDS