​คลังเผยศก.ไตรมาส1 สัญญาณดีขึ้นจากการบริโภคภาคเอกชน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีสัญญาณดีขึ้นจากการใช้จ่ายภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน



    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีสัญญาณดีขึ้นจากการใช้จ่ายภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน  

    อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ายังคงหดตัว สำหรับเศรษฐกิจไทยในด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าภาคเกษตรกรรมยังคงส่งสัญญาณหดตัว ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี” ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียด พบว่า

    การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ในเดือนมีนาคมขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 20.1 ต่อปี ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปี 

    และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อไตรมาส 

    สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 67.1 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

    อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมีนาคม 2558 พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อไตรมาส

    การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ยังคงทรงตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมีนาคมกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 ต่อเดือน 

    อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี สำหรับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมีนาคมขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่า หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อไตรมาส 

    ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคมยังคงหดตัวที่ร้อยละ -10.6 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -11.3 ต่อปีและเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าหดตัวร้อยละ -7.0 ต่อไตรมาสและปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมีนาคม 2558 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -6.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าหดตัวร้อยละ -0.4 ต่อไตรมาส

    สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี2558 (ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2558)สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนมีนาคม 2558 จำนวน -81.0 พันล้านบาท และทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2558) ขาดดุล -144.7 พันล้านบาท

     โดยการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมีนาคมมีจำนวนทั้งสิ้น 157.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2558) รายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวน 466.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อปีขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมีนาคม 2558 เบิกจ่ายได้จำนวน 251.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 52.0 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2558) เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 617.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี

    สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2558 หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงในเดือนมีนาคมมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และไฟฟ้า สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัวในเดือนมีนาคม ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และฮ่องกง ทำให้    ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 การส่งออกสินค้าของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -4.7 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่า หดตัวร้อยละ -6.2 ต่อไตรมาส

    

NEWS & TRENDS