​สำนักวิจัย CIMB แปลกใจ กนง.ลดดอกเบี้ยเร็วเกินคาด

สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ไทย แปลกใจ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินคาด หลังเพิ่งปรับลดไปเดือนมีนาคมที่ผ่านมา



    สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ไทย แปลกใจ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินคาด หลังเพิ่งปรับลดไปเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ในการประชุมวันที่ 29 เม.ย. 58 สร้างความแปลกใจให้ตลาด เนื่องจากปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด เดิมทีสำนักวิจัยฯคาดว่าหลังจากกนง. ปรับลดดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.58 จะได้เห็นกนง.ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมรอบหน้าวันที่ 10 มิ.ย.58 เพื่อรอดูการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ในวันที่ 18 พ.ค.58 เสียก่อน 

    อย่างไรก็ดี การที่กนง.ประกาศปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ลงไปเหลือ 1.50% เมื่อวันที่ 29 เม.ย.58 น่าจะเป็นเพราะผู้ทรงคุณวุฒิของธปท.ทั้งคนนอกและคนในเห็นตรงกันว่าไม่สามารถรอได้ เพราะการส่งผ่านนโยบายต้องใช้เวลา ถ้ารอตัวเลขจีดีพีประกาศออกมาก่อนอาจไม่ทันการณ์ จึงต้องลดดอกเบี้ยในรอบนี้

    นายอมรเทพ กล่าวว่า สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้จะช่วยเศรษฐกิจได้มากเพียงใดนั้น ขอมองเป็นประเด็นดังนี้
        
    -ช่วยผู้ประกอบการในประเทศให้ลงทุนได้มากน้อยเพียงใด
       
    คงช่วยได้ไม่มาก ช่วยได้บ้างแต่จำกัด เพราะปัจจัยหลักๆของผู้ประกอบการคือ รอการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศนั้นต่ำอยู่แล้ว แทบจะต่ำสุดในภูมิภาค ส่วนธนาคารพาณิชย์เองก็ระวังในการปล่อยสินเชื่อเพราะห่วงหนี้เสีย
        
    ช่วยผู้ส่งออกผ่านค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง        

     แม้ลดดอกเบี้ยทำให้บาทอ่อน แต่จะอ่อนได้นานเพียงใด เพราะจากการปรับลดดอกเบี้ยรอบที่แล้วเมื่อ 11 มี.ค.58 เราพบว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วงวันที่ 11-19 มี.ค.แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอีกครั้งและทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกระลอก กล่าวคือ นโยบายการเงินสหรัฐมีผลต่อค่าเงินบาทมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายการเงินในประเทศ จึงต้องจับตาสัญญาณจากสหรัฐ หากธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งและอาจไม่ทะลุแนวต้านที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ดั่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการลดดอกเบี้ยในรอบนี้
       
     นายอมรเทพ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือผลข้างเคียงจากการปรับลดดอกเบี้ย ได้แก่ ภาวะฟองสบู่และหนี้ครัวเรือน

     ภาวะฟองสบู่
    อาจเกิดจากเมื่อดอกเบี้ยปรับลง ทำให้แรงจูงใจในการออมลดลงไปด้วย คนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น คือ อสังหาริมทรัพย์ จึงต้องระวังและพยายามสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจก่อนเกิดปัญหาจนลามเป็นภาวะฟองสบู่
        
    หนี้ครัวเรือน
   แม้การลดดอกเบี้ยอาจจูงใจให้คนใช้จ่ายหรือลงทุน แต่ไม่น่าจะส่งผลแรงมากนัก เพราะรายได้คนไม่ขยับ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยังไม่เร่งตัว ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ระวังในการปล่อยกู้ การใช้จ่ายและลงทุนคงไม่เร่งตัวมาก แต่ที่น่าห่วงคือ กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง เป็นหนี้มากขึ้นจนทำให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูง และผู้มีรายได้ระดับบนหากก่อหนี้จนเกิดฟองสบู่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่สมดุลและเกิดเป็นปัญหาระยะยาว
       
     สัญญาณจากธปท.  
   หลังการลดดอกเบี้ยรอบนี้อยากให้ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัดอีกครั้ง เพราะกังวลว่านักลงทุนจะเข้าใจว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ชะลอการลงทุนเพื่อรอต้นทุนการเงินปรับลดลงไปอีก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา กนง.จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งติดกันหากไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อให้การปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้เกิดประโยชน์เต็มที่จึงอยากให้ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัด

    “ธปท.รับบทบาทหนักมากในขณะนี้ทั้งต้องกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพ หากธปท.จำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อดูแลค่าเงินอยากให้ธปท.อธิบายเหตุผลอย่างละเอียดและชัดเจนแก่นักลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจ ส่วนตัวมองว่าบาทแข็งไม่ได้เกิดจากเงินทุนไหลเข้า ตลาดหุ้นที่ต่างชาติซื้อสุทธิก็เป็นการเปลี่ยนจากขายสุทธิเป็นซื้อสุทธิเมื่อไม่นานมานี้ ตลาดพันธบัตรปีนี้เม็ดเงินใหม่ไม่ได้เข้ามามาก บาทแข็งเพราะเรานำเงินไปจ่ายต่างประเทศน้อย เหตุผลใหญ่คือ การนำเข้าลดลง ราคาน้ำมันลดลง ที่อยากเห็นคือ รัฐส่งเสริมให้คนลงทุนต่างประเทศ นำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต” นายอมรเทพ กล่าว

NEWS & TRENDS