กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ ISMED ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางภาคการผลิตสินค้าแฟชั่นในอาเซียน โหมต่อยอดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย รุกสร้างดีไซเนอร์คุณภาพสากลสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เปิดตัวโครงการการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย หรือ Fashion Designer Creation 2015 (FDC 2015)
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ ISMED ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางภาคการผลิตสินค้าแฟชั่นในอาเซียน โหมต่อยอดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย รุกสร้างดีไซเนอร์คุณภาพสากลสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เปิดตัวโครงการการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย หรือ Fashion Designer Creation 2015 (FDC 2015)
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบันมีนักออกแบบแฟชั่น หรือ ดีไซเนอร์รุ่นเยาว์เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนนักออกแบบฝีมือดี ที่สามารถเข้าใจแนวโน้มตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ตามใจผู้ซื้อมากกว่าผู้ขายอย่างแท้จริง
ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) หรือ ISMED ดำเนินกิจกรรมการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย หรือ Fashion Designer Creation 2015 (FDC 2015) ที่มุ่งเน้นการพัฒนานักออกแบบสายพันธ์ใหม่ที่มีองค์ความรู้ด้าน “นวัตกรรมแฟชั่น” (Innofashion) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Innovation) และการออกแบบแฟชั่น (Fashion)
โดยประกอบด้วย นวัตกรรมด้านการออกแบบ (Innodesign) การสร้างสรรค์สไตล์หรือรูปแบบใหม่ๆ ของสินค้า นวัตกรรมด้านวัสดุ (Innomaterials) การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่าง ล้ำสมัย แต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับความเป็นไทย
นวัตกรรมด้านเทคนิคหรือการผลิต(Innotechnics) การนำเสนอกระบวนการ วิธีการหรือทักษะฝีมือการผลิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นวัตกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ (Innoconcept) นำเสนอแนวคิดที่แปลกใหม่ โดยตั้งเป้านำร่องพัฒนานักออกแบบในปี 2558 จำนวนกว่า 200 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้ง 3 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้ประเทศได้จำนวนมาก
ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ในการสร้างจุดขายให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยผ่านจุดแข็งที่มีบุคคลากรภาคการผลิตที่ทันสมัย โดยตั้งเป้าหมายในอนาคตให้กลุ่มนักออกแบบดังกล่าวสามารถดึงความต้องการในวัตถุดิบและสินค้าแฟชั่นไทย จากประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อต่อยอดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภาคการผลิตสินค้าแฟชั่น
ด้าน นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า กิจกรรมการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย หรือ Fashion Designer Creation 2015 (FDC 2015) ดังกล่าวจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอีกกลไกหนึ่ง และตั้งเป้าพัฒนานักออกแบบในหลากหลายกลุ่มที่กำหนดไว้ทั้ง 4 ธีม ด้วยองค์ความรู้นวัตกรรมแฟชั่น (Innofashion) และสอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่นจนไปสู่การผลักดันให้เกิดชิ้นงานต้นแบบที่มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะได้รับการเผยแพร่บน Runnway Fashion ระดับประเทศและนิตยสารด้านการออกแบบแฟชั่นชั้นนำ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่เป้าหมายศูนย์กลางแฟชั่น AEC ในปี 2560
นายสุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ผลสัมฤทธิ์เบื้องต้นจากโครงการฯ ได้พัฒนา 4 ธีมแฟชั่นสอดคล้องกับฤดูกาล สปริง ซัมเมอร์ 2016 (Spring Summer2016) โดยได้คัดเลือกนักออกแบบเข้ารับการอบรมก่อนจะกำหนดให้นักออกแบบในโครงการฯ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อให้เป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าแก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยได้เห็นเป็นแนวทาง โดยคาดว่าจาก ธีมแฟชั่นดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในกว่า 20-30% โดยรายละเอียดแนวคิดของ ธีมแฟชั่นทั้ง 4 แบบ ได้แก่
- ทรอปิคอล อาร์ติแซน(Tropical Artisan) เสนอความเป็นธรรมชาติของวัตถุดิบที่หลากหลายและแปลกใหม่ผสมกับงานคราฟ์ทำมือ เพื่อตอบสนองอีโคไลฟ์สไตล์ไทย (EcoLifestyle) ของคนยุคปัจจุบัน
- สนุกสนาน (Snook Snan) การสะท้อนอุปนิสัยของคนไทยที่สัมผัสได้ถึงความสนุกของสตรีทสไตล์ (Street Style)รวบรวมแฟชั่นลำลองกับสีสันที่ฉูดฉาด และกราฟฟิกต่างๆ บนตัวผ้า
- อินโดจีน (Indochine) การนำเสนอความงดงามของผ้าพื้นบ้านที่คงไว้ซึ่งความหลากหลายของอารยะธรรมชนเผ่าไทยในคาบสมุทรอินโดจีนผ่านงานทอ งานปัก งานตกแต่งลายผ้า เป็นต้น
- เจนเดอร์ฟิวเจอร์ริซึ่ม (Gender Futurism) สะท้อนศิลปะการปรับตัวของคนไทยที่มีการปรุงแต่งอย่างซับซ้อนแต่อยู่ในรูปแบบความเรียบง่ายด้วยแนวคิดที่ทันสมัยไปพร้อมๆ กัน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมแฟชั่น สามารถติดตามและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110โทรศัพท์ 0 2367 8296, 0 2367 8290 หรือติดตามโครงการอื่นๆของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.th หรือ
www.facebook.com/dip.pr