ญี่ปุ่นผ่อนคลายระเบียบอาหารสุขภาพโอกาสใหม่สินค้าไทย

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ารายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากา กรณีญี่ปุ่น โดยสำนักงานกิจการผู้บริโภค (ซีเอเอ) ออกระเบียบใหม่กำหนดการระบุฉลากสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อเตรียมยื่นแจ้งต่อซีเอเอก่อนวางจำหน่ายสินค้าในญ..



    นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ารายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากา กรณีญี่ปุ่น โดยสำนักงานกิจการผู้บริโภค (ซีเอเอ) ออกระเบียบใหม่กำหนดการระบุฉลากสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อเตรียมยื่นแจ้งต่อซีเอเอก่อนวางจำหน่ายสินค้าในญี่ปุ่น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558

    คาดว่าจะมีโอกาสใหม่ทางการค้า เนื่องจากมีมาตรการผ่อนคลายระเบียบข้อกำหนดเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตอาหารสามารถประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น “เริ่มมีบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่หลายรายยื่นแจ้งต่อซีเอเอ ทำให้เห็นถึงการพัฒนาของสินค้าและนวัตกรรมสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น 

    อาทิ สินค้าเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์สามารถระงับการดูดซึมน้ำตาลและไขมันของอาหาร สินค้าอาหารเสริมบางประเภทช่วยบรรเทาสภาพผิวหนังแห้ง โดยการให้ความชุ่มชื้นต่อผิวหนัง”

    นอกจากนี้ การผ่อนคลายระเบียบดังกล่าวจะช่วยทำให้ขนาดตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพปี 2560เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปี 2556 เป็นมูลค่าถึง 2.145 ล้านล้านเยน จากการสำรวจพบว่าปี 2557ผู้บริโภคญี่ปุ่นที่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ-อาหารเสริมมีประมาณ 56.7ล้านคน หรือเท่ากับประมาณครึ่งของประชากร ระดับอายุที่บริโภคมากที่สุด คือ วัย 40ปีทั้งชายและหญิง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 19ขณะที่วัย 30และ 50ปีรวมกันมีประมาณร้อยละ 50

    กรมฯ แนะนำให้ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยที่มีการจำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ ระบุประโยชน์ หรือหน้าที่ของสินค้าให้ชัดเจน เพื่อทำตลาดได้ตรงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ระเบียบใหม่ว่าด้วยสินค้าอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษได้เปิดโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าอาหารของไทย สำหรับประเภท ซึ่งใช้วัตถุดิบที่เป็นพืชผักต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ตะไคร้ โหระพา กระชาย หรือสินค้าจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะพร้าว ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ 

    ทั้งนี้ สินค้าที่อยู่ในข่ายดังกล่าวไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจ หรือขออนุญาตจากภาครัฐในการที่จะระบุหน้าที่ ประโยชน์ หรือ สรรพคุณบนฉลาก แต่จะต้องยื่นแจ้งต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะต้องมีบทวิจัยที่แสดงหลักฐานทางวิชาการยืนยันผลที่ดีต่อสุขภาพตามที่อ้างนั้น 

    นอกจากนี้ผู้ส่งออกไทยควรเป็นฝ่ายให้รายละเอียด/ข้อมูลที่เกี่ยวกับหน้าที่ หรือ ประโยชน์ของสินค้าอาหารนั้น เพื่อที่จะใช้เป็นจุดขายเรียกความสนใจซื้อของผู้นำเข้าของญี่ปุ่น และเพื่อให้ผู้นำเข้าของญี่ปุ่น นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการยื่นแจ้งและระบุบนฉลากเป็นภาษาญี่ปุ่นถึงสรรพคุณของสินค้า

     อย่างไรก็ตามระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดวิธีการระบุฉลาก ดังนั้นสินค้าอาหารทุกประเภทยังต้องผ่านการตรวจและต้องได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ภายใต้กฏหมายสุขอนามัยอาหารและหรือกฏหมายคุ้มครองพืช

NEWS & TRENDS