ค่าครองชีพพุ่งฉุดดัชนีฯครัวเรือน

ภาวะค่าครองชีพถีบตัวสูงส่งผลดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนต่ำสุดรอบ 5 เดือน พร้อมระวังการก่อหนี้ก้อนใหม่


    ภาวะค่าครองชีพถีบตัวสูงส่งผลดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนต่ำสุดรอบ 5 เดือน พร้อมระวังการก่อหนี้ก้อนใหม่

    รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า  ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาพบว่าอยู่ที่ระดับ45.8  จากเดิมเดือนมี.ค.อยู่ที่ระดับ 46และดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 46.5  จากเดิมอยู่ที่46.6  ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3  ถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 เดือน  แสดงให้เห็นว่า กำลังซื้อของครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากโจทย์การครองชีพครัวเรือนทั้งในด้านสถานการณ์ราคาสินค้า ภาระค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน และสถานการณ์รายได้ ยังไม่คลายความกังวลลงในระยะใกล้ๆนี้ หากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างล่าช้าและยังไม่กระจายตัวออกไปในทุกสาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีหากมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจเริ่มมีผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนขึ้นในช่วงหลังก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนความเชื่อมั่นและบรรยากาศการใช้จ่ายให้มีทิศทางที่ดีขึ้น

      “ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในช่วงหลายเดือนข้างหน้าโดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตร รวมถึงรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกมีจำกัดฟื้นตัว  ส่วนดัชนีมุมมองต่อภาระการชำระหนี้ของครัวเรือนใน3เดือนข้างหน้า แม้จะเป็นเชิงลบลดลง (หลังต้นทุนดอกเบี้ยบางส่วนปรับตัวลงและภาระหนี้เดิมทยอยผ่อนชำระไปแล้ว) แต่ค่าดัชนีที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่าผู้บริโภคกังวลภาวะการครองชีพ  และระมัดระวังการเพิ่มภาระหนี้ก้อนใหม่”

         นอกจากนี้มองว่าความอ่อนแอของกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ยืดเยื้อไปถึงไตรมาสที่2  อาจกดดันให้การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนตลอดครึ่งแรกของปี58 (ม.ค.-มิ.ย.)อยู่ในกรอบที่จำกัด โดยอาจขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.2 %   ขณะที่ครึ่งปีหลัง(มิ.ย.-ธ.ค.)คาดว่าจะขยายตัว 2% สะท้อนว่าการบริโภคไม่หยุดชะงักลง แต่ต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นในการฟื้นฟูการบริโภคให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์

NEWS & TRENDS