นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า หลังจากได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคลผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service) ในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า หลังจากได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคลผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service) ในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา ที่สามารถค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนของนิติบุคคล รวมทั้งข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยระบบจะแสดงผลเป็นภาษาไทย ซึ่งสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 รวมทั้งสิ้น 420,086 ครั้ง เฉพาะเดือนเมษายนมีการเข้าใช้ระบบนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 39,341 ครั้ง คิดเป็น 10%
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 11,730 ราย 13,376 เว็บไซด์ ประกอบด้วยนิติบุคคล 3,172 ราย คิดเป็น 27% บุคคลธรรมดา 8,558 ราย คิดเป็น 73%
โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,419 เว็บไซด์ คิดเป็น 18% ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,145 เว็บไซด์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 1,485 เว็บไซด์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ
นอกจากผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์แล้ว กรมยังได้หารือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจต้องพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยให้เติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
ท้ายนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้มีการเปิดตัวโครงการให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์(DBD e-Filing) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี XBRL มาสนับสนุนการให้บริการในการรับงบการเงินเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์กรม www.dbd.go.th> เลือก “การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)” ผู้ประกอบการสามารถส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ e-Form และรูปแบบ XBRL in Excel ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 มีผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 6,419 ราย มาแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ จำนวน 2,683 ราย และส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 248 ราย
นอกจากนี้ กรมยังสนับสนุนกลุ่มผู้ทำบัญชีที่มีหน้าที่ในการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางบัญชี ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปี โดยผลักดันให้สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกประกาศให้ผู้ทำบัญชีสามารถนับจำนวนชั่วโมงพัฒนาความรู้ทางบัญชีฯ ได้ 1 ชั่วโมงต่อ 1 นิติบุคคลที่นำส่งงบการเงิน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558
ในโอกาสนี้กรมฯ ยังเพิ่มทางเลือกในการขอหนังสือรับรองให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเปิดให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 มีผู้มาใช้บริการ ทั้งสิ้น 707 คำขอ จำนวน727 ฉบับ แบ่งเป็นส่วนกลาง466 คำขอ 483 ฉบับ ส่วนภูมิภาค 241 คำขอ 244 ฉบับ